Friday, May 29, 2009

การใช้มีด และขอสับของคนเลี้ยงช้าง - ควาญช้าง เป็นเรื่องปกติหรือไม่? Is it necessary to use knifes and hooks on elephants?

บางคนไม่ได้ตั้งใจที่จะทำร้ายช้าง แต่เพราะขาดความรอบคอบก็ทำร้ายเขาไปโดยไม่เจตนา เช่นมีควาญคนหนึ่ง แทบทุกครั้งต้องการจะสั่งให้ช้างทำอะไรก็มักเอาสันมีดฟันหรือเคาะแรงๆที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของช้างเช่นต้นขา งวง หรือเท้าตามแต่จะเหมาะหรือสะดวก (ปกติควาญช้างทุกคนจะพกมีดและขอสับเป็นเครื่องใช้ประจำตัว) วันนั้นแกนั่งอยู่กับพื้น แกต้องการสั่งให้ช้างถอยหลัง ก็คว้าเอามีดไปเคาะฉับๆเข้าให้ที่เท้าหลังเหนือเล็บของช้างโดยเข้าใจว่ากำลังใช้สันมีดพร้อมกับบอก “ถอยๆ” แต่โชคร้ายของช้างและความสับเพร่าของควาญ แกใช้ด้านคมซึ่งคมมากแทนด้านสันของมีด ปรากฎว่าเท้าช้างเป็นแผลลึกลงไปประมาณสองนิ้วเห็นจะได้ และกว้างเกือบเท่าความยาวใบมีด เลือดทะลักพรั่งพรูออกมา เท้าเป็นส่วนที่สัมผัสกับพื้นตลอดเวลา โดนฝุ่นดิน น้ำ โคลนฯลฯ แผลเกิดอักเสบ มีหนอนแมลงวันเข้าไปไข่ ช้างตัวนั้นได้รับความเจ็บปวดทรมานตามมาอีกหลายเดือน ช้างก็ไม่ได้มีอาการโกรธแค้น หรือทำร้ายตอบควาญแต่อย่างไร คงก้มหน้ารับความเจ็บปวดไปอย่างน่าสงสาร...

มีดเป็นอุปกรณ์คู่กายของชาวบ้าน มีประโยชน์มากและใช้งานได้หลายอย่างในชีวิตประจำวันและใช้ป้องกันตัว เวลาช้างเกิดดุร้ายผิดปกติและจะทำร้ายควาญ ส่วนขอสับเป็นของคู่กายควาญช้าง ควาญใช้ขอสำหรับกดเบาๆตามส่วนต่างๆของช้าง คล้ายๆกับคาวบอยตะวันตกใช้ส้นรองเท้าที่มีโลหะแหลมๆติดอยู่เพื่อสะกิดบอกให้สัตว์รู้ว่าเราต้องการให้เขาหันซ้ายหันขวา เดินหน้าถอยหลัง หรือหยุด ควบคู่ไปกับภาษากายเช่นการขย่มตัวไปข้างหน้าขณะที่อยู่บนคอช้าง บอกให้ช้างรู้ว่าให้ออกเดินไปข้างหน้า การใช้ปลายเท้าเตะเบาๆที่ด้านหลังใบหู สะกิดเตะที่หลังหูซ้ายพร้อมเอี้ยวตัวไปทางขวาหมายถึงให้ช้างเลี้ยวไปทางขวา เป็นต้น
ควาญช้างใช้ขอสำหรับควบคุมช้างและบางครั้งการสับหรือกดลงแรงกว่าปกติก็เป็นการย้ำคำสั่งหรือลงโทษที่ช้างไม่ทำตามคำสั่งในทันที แต่ขอสับนี้ไม่ควรถูกใช้พร่ำเพรื่อ เช่นเดียวกับการลงโทษช้างก็ไม่ควรพร่ำเพรื่อ ควาญที่มีความเมตตาและรักช้างที่ตนเลี้ยงจะสั่งสอนช้างอย่างมีเมตตาและผลที่ได้คือช้างที่เชื่อฟัง นิสัยดี ไม่ก้าวร้าวและควาญประเภทนี้จะลงโทษช้างน้อยมาก ขณะที่ควาญช้างบางคนไม่มีความเมตตาต่อช้าง ห่วงแต่ประโยชน์ของตน ใช้ช้างทำทุกอย่างที่จะให้ตนได้ประโยชน์โดยไม่คำนึงว่าช้างจะเหนื่อย จะหิวกระหาย จะเจ็บตรงไหน อย่างไร ควาญประเภทนี้มักเอาแต่ใจ ดุและทำร้ายช้างของตนอน่างรุนแรงและบ่อยๆ ช้างเหล่านี้ก็มักจะเป็นช้างที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมเช่นก้าวร้าว ดุร้าย ทำร้ายคนหรือช้างอื่น ตามเนื้อตัวก็มักจะมีบาดแผลเก่าและใหม่อยู่มากมาย

เคยพบควาญคนหนึ่ง อายุห้าสิบกว่าปีแล้ว เป็นคนอารมณ์ดี มีเมตตา พูดกับช้างเสียงดังฟังชัดแต่ไม่กระโชกโฮกฮาก แกเรียกช้างของแกว่า “แม่วัน” (ช้างชื่อทานตะวัน) แทบทุกครั้ง ติดตามแกอยู่หลายวัน แทบไม่เคยได้ยินแกขึ้นเสียงด้วยความดุร้ายหยาบคายกับช้างเลย แทบไม่เคยทำโทษช้างสักครั้ง และไม่เห็นแกใช้ขอสับเลยสักครั้งตลอดระยะเวลากว่าสองสามสัปดาห์นั้น แถมบางช่วงไม่มีอะไรทำ แกก็นั่งลงคว้าหีบเพลงขึ้นมาเป่า สลับกับร้องเพลงอยู่ข้างๆช้างของแกนั่นเอง ช้างก็เลยได้อานิสงค์ได้ฟังเพลงไปด้วย “แม่วัน”ตัวนี้ก็ช่างเป็นช้างชนิดที่เรียกได้ว่า “ช้างในอุดมคติ” เลยทีเดียว รูปร่างสูง ส่วนหัวได้รูปสวย ขนาดกำลังดีไม่อ้วนไม่ผอมไป ผิวพรรณก็สวยงาม ไม่มีบาดแผล นอกจากบางครั้ง ขีดข่วนเล็กๆเวลาเดินเข้าป่าไปโดนกิ่งไม้บ้าง เป็นช้างอารมณ์ดีชวนให้เข้าใกล้ คุณลุงควาญของแม่วันก็เป็น “ควาญช้างในอุดมคติ” เช่นกัน
เรามักได้ยินคนพูดกันว่า “ช้างนั้นหนังหนามาก มันไม่เจ็บหรอก..” ช้างมีผิวหนังหนามากเมื่อเทียบกับหนังของมนุษย์ แต่การมีผิวหนังที่หนาของช้างไม่ได้ลดความ “ไวต่อความรู้สึก” บนผิวหนังของช้างเลย! ช้างรู้สึกได้ทันทีเมื่อแมลงเล็กๆกัดหรือต่อยที่ผิวหนังส่วนใดก็ตาม ความเป็นสัตว์ที่มีร่างกายใหญ่โตทำให้ช้างอดทนต่อความเจ็บปวดได้มากกว่าสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่า เช่นกิ่งไม้ หนามแหลมคมที่ครูดไปตามผิวของช้างอาจไม่ทำให้ช้างรู้สึกเจ็บจนเป็นอุปสรรคต่อการหากินตามธรรมชาติ แต่การตี การฟัน หรือกดจิกตามผิวหนังด้วยของมีคมหรือปลายแหลม ทำให้ช้างเจ็บแน่นอน การคิดว่าช้างไม่รู้สึกเจ็บเพราะหนังหนาเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง

1 comment:

  1. จะมีช้างสักกี่ตัวที่จะโชคดีอย่างแม่วัน ดูอย่างพังกำไลก็เป็นตัวอย่างของความโชคร้ายที่มักเกิดขึ้นกับช้างชนิดซ้ำชาก ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่"คน"ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ จะเลิกเอารัดเอาเปรียบสัตว์โลกอื่นๆซะที

    ReplyDelete