Tuesday, May 19, 2009

นั่งช้างเดินเล่น ทรมานช้างหรือเปล่านะ? Elephant Ride - How do we know if they're OK? When to do, when not to do?


แหย่งคือที่นั่งสำหรับวางบนหลังช้างกว้างพอสำหรับนั่งได้สองคน เพื่อให้นักท่องเที่ยวนั่งให้ช้างพาเดินเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในอดีตมักทำด้วยไม้และอาจถักเสริมด้านข้างด้วยหวายหรือไม้ไผ่ดัดโค้ง แต่ปัจจุบัน มีการนำช้างมาหากินในเมืองต่างๆเป็นจำนวนมาก จึงมีการใช้เหล็กทำแหย่งกันมากขึ้น เนื่องจากสะดวกและหาง่าย ราคาถูก


ก่อนติดตั้งแหย่งบนหลังช้างนั้น ต้องมีการล้างทำความสะอาดช้าง เอาเศษใบไม้กิ่งไม่ฝุ่นผงต่างๆออกให้เกลี้ยง เพื่อไม่ให้บาดหลังช้างเป็นแผล จากนั้นปูรองด้วยเปลือกไม้ชนิดหนึ่งที่ทุบให้ฟู (ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “หนัง”) มีความยืดหยุ่นสูง ถ่ายเทอากาศได้ดี ซึ่งจะช่วยให้หลังช้างไม่ร้อนเท่ากับใช้วัสดุอื่น ถ้าเป็นในเมืองมักจะใช้กระสอบข้าวเก่าๆ หรือผ้าห่มสักหลาดเก่าๆแทน วัสดุทั้งสองอย่างนี้ ระบายอากาศและความร้อนได้ไม่ดี (แต่เปลือกไม้นั้นหายาก จะพบเห็นใช้กันตามปางช้างที่อยู่ในแหล่งใกล้ป่าธรรมชาติเท่านั้น) จากนั้นจึงนำแหย่งวางบนหลังช้าง และผูกมัดด้วยเชือก ซึ่งเชือกแต่ละชนิดก็มีคุณภาพ คือความคม ความยืดหยุ่นและแข็งแรงแตกต่างกัน เชือกไนล่อนราคาถูกๆ ยิ่งใช้ไปจะยิ่งแข็งกระด้างและคม หากผูกมัดไม่ดีจะยิ่งบาดผิวหนังช้างให้เป็นแผลได้มาก

เราจะสังเกตความเอาใจใส่ของควาญและ/หรือผู้ประกอบการนั้นๆได้ โดยการดูรูปร่างของแหย่งว่าพอดีกับสรีระ ความโค้งบนหลังช้างมากน้อยเพียงใด (แหย่งที่ทำมาไม่ดีเช่นมีส่วนปลายเป็นมุมแหลมกดลงแนวตรง หรือมีความโค้งไม่พอดีกับความโค้งของหลังช้างอาจทิ่มแทงผิวหรือกดน้ำหนักบนกระดูกสันหลังของช้างจนเป็นอันตรายหรือทำให้ช้างบาดเจ็บเรื้อรังได้) วัสดุต่างๆที่ใช้ การผูกมัด กระทำด้วยความละเอียดใส่ใจเพียงใด อีกทั้งสังเกตว่าช้างแต่ตัวไม่ควรถูกให้บรรทุกแหย่งนานเกินไป ควรได้มีโอกาสพักหลังบ้าง


นอกจากนี้ ควาญหรือผู้ประกอบการที่ดีไม่ควรเอาอกเอาใจนักท่องเที่ยวจนละเลยสวัสดิภาพของช้าง เช่นบรรทุกของหรือคนจนน้ำหนักมากเกินกำลังหรือขนาดของช้าง หลังของช้างเป็นจุดที่ละเอียดอ่อน ช้างสามารถลากของน้ำหนักนับพันกิโลกรัมได้โดยผูกมัดสิ่งของนั้นให้เหมาะสม แต่ช้างไม่สามารถบรรทุกน้ำหนักบนหลังได้มากกว่าร้อยถึงสองร้อยกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดของช้าง ผู้ดูแลช้างต้องปฏิเสธที่จะบรรทุกนักท่องเที่ยวหรือของที่น้ำหนักมากเกินไป นักท่องเที่ยวก็ไม่ควรเรียกร้องต้องการขึ้นนั่งหลายๆคนบนช้างตัวเดียว


ครั้งต่อไปที่เราคิดจะนั่งช้างเที่ยว ช่วยกันสังเกตสักนิดว่า ช้างที่เราจะนั่งนั้น ใส่แหย่ง สภาพไหน หลังเป็นแผลหรือไม่ ตัวเล็กเกินไป แบกแหย่งและบรรทุกคนนานเกินไปแล้วหรือไม่ ต้องเดินนานๆในสภาพอากาศร้อนจัดหรือไม่ ช่วยกันสักนิด ปฏิเสธผู้ให้บริการที่ปฏิบัติต่อช้างอย่างปราศจาคความเมตตา

1 comment:

  1. ตราบใดที่ผลประโยชน์ คือ "เงิน" ที่ผู้ที่ไม่รู้จักพอต้องการและต้องการ ตราบนั้น จะมีการใช้ประโยชน์จากสัตว์ทุกชนิด สิ่งที่ทำได้คือ ไม่สนับสนุนและไม่ใช้บริการ

    ช้าง ธรรมชาติอยู่ในป่า แต่คนเอาออกจากป่ามาทรมานและใช้งาน มันก็ฝืนธรรมชาติ พวกเรา (บางกลุ่ม) ได้นั่งช้าง ได้ขี่ช้าง แล้วมีความสุข เคยถามช้างไหมว่า "สนุกมั้ย?"

    ReplyDelete