ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่นเดียวกับสุนัข โลมาและ วาฬ ซึ่งล้วนแต่เป็นสัตว์สังคม และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาก อีกทั้งเป็นสัตว์ที่ขี้เล่น โดยเฉพาะตัวที่อายุยังน้อย สัตว์เหล่านี้จึงชอบที่จะอยู่กับคนและเรียนรู้ที่จะทำอะไรๆร่วมกับคน หากคนนั้นมีความเมตตา สั่งสอนและใช้งานพวกเขาอย่างเหมาะสม ช้างก็จะรู้สึกว่าการทำงาน การแสดงต่างๆก็คือการเล่นสนุกสนานและมีความสุขได้เช่นกัน
...คนฝึกช้างสองสามคนมะรุมมะตุ้มฝึกลูกช้างอายุสามปีตัวหนึ่งให้เชื่อฟังคำสั่ง นั่ง นอน ลุกฯลฯ ลูกช้างนั้นมองดูไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร ตามเนื้อตัวก็มีแผลเล็กๆตื้นๆมีรอยยาฆ่าเชื้อโรคสีม่วงๆพ่นไว้เต็มไปหมด ช้างน้อยคงโดนขอและมีดสะกิดอยู่บ่อยๆระหว่างฝึกเชื่อฟังคำสั่งนี้ ควาญสั่ง“นั่งลง”พร้อมกับเอาขอกดที่กลางหลังของช้างน้อย ช้างย่อขาลงและลดตัวลงนั่ง ก้นยังไม่ทันสัมผัสพื้นดี ควาญคนเดิมก็เอาขอกดที่ข้างขาหน้าพร้อมกับพูดว่า “ลุกๆ” ช้างน้อยก็รีบลุก ควาญก็สั่งให้นั่งอีก ทำอย่างนี้อยู่สองสามครั้ง ลูกช้างนั้นส่งเสียงร้องเหมือนเด็กร้องไห้ตัดพ้อ ถ้ามันพูดได้คงจะพูดว่า “จะเอายังไงกันนี่?” ลูกช้างที่น่าสงสารคงทั้งเจ็บทั้งกลัวและต้องการทำตามคำสั่งแต่ก็ไม่เข้าใจว่าคนต้องการสั่งอะไรแน่ การสั่งและเปลี่ยนคำสั่งอย่างรวดเร็วน่าจะทำให้ช้างน้อยสับสนและคิดว่าตนทำไม่ถูกต้องจึงโดนทำโทษ การฝึกสัตว์ควรจะกระทำด้วยความเมตตา มีการพูดจาให้รางวัลเมื่อเขาทำได้ถูกต้อง เพื่อเขาจะได้ทราบว่าสิ่งใดทำถูกแล้วดีแล้ว วันหน้าจะได้ทำอีก สิ่งใดไม่ถูกไม่ดีก็ไม่ให้รางวัลหรือทำโทษเล็กๆน้อยสมควรแก่การกระทำนั้น สัตว์ก็จะเรียนรู้ได้เร็วและไม่บอบช้ำโดยไม่จำเป็น
ในระหว่างการแสดงต่างๆก็เช่นกัน ควาญหลายคนสั่งช้างโดยใช้วิธีที่ทารุณ เช่นใช้ขอสับหรือจิกแรงๆเพื่อให้ช้างทำตามคำสั่งอย่างรวดเร็ว เช่นให้เต้นส่ายหัวส่ายงวง ให้วิ่งเตะฟุตบอล วิ่งกลับตัวอย่างรวดเร็วเช่นวิ่งแข่ง วิ่งในเกมส์โปโล (ซึ่งขัดกับธรรมชาติที่เชื่องช้าอุ้ยอ้ายของช้างส่วนใหญ่) ควาญบางคนถือตะปูเล็กๆไว้ในมือแทนขอสับเพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยงสังเกตเห็น ในฐานะผู้ชมเราสามารถสังเกตได้ด้วยตนเองว่าช้างที่กำลังแสดงนั้นแสดงอย่างมีความสุขหรือไม่ หรือกำลังถูกทารุณ ผู้ชมสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างนักแสดงทั้งหลายถูกกระทำทารุณ เพราะควาญช้างต้องอาศัยรายได้จากผู้ชม หากผู้ชมไม่ชื่นชอบกับการกระทำของควาญและเรียกร้องให้มีการแก้ไข ควาญช้างหรือผู้ประกอบการก็ย่อมต้องตอบสนอง
No comments:
Post a Comment