

นานาสาระเกี่ยวกับช้าง
ช้างเอเชีย กับช้างอาฟริกา
ช้างเอเชีย(ประกอบด้วยสายพันธุ์สุมาตรา ศรีลังกาและอินเดีย ซึ่งช้างไทยจัดอยู่ในกลุ่มสุดท้ายนี้) และช้างอาฟริกามีความแตกต่างกันหลายอย่างเช่น
- ขนาด –ช้างอาฟริกาตัวผู้ที่โตเต็มที่อาจหนักถึง 6000 กิโลกรัม ส่วนสูง(วัดถึงส่วนบนสุดของกระดูกหัวไหล่)ประมาณ 4 เมตร ตัวเมียหนักประมาณ3000 กก. และสูงประมาณ 2.6 เมตร ขณะที่ช้างเอเชียตัวผู้หนักประมาณ 5400 กก. สูงประมาณ3.2 ม. ตัวเมียหนักประมาณ4000 กก. และสูงประมาณ 2.5 ม. (ที่มา: Ian Redmond, Eye Witness Guides “Elephant” (Dorling Kindersley,1993)
- ศีรษะ -ช้างอาฟริกามีส่วนบนของศีรษะเมื่อมองจากด้านหน้าค่อนข้างแบนราบป็นเส้นตรง ส่วนช้างเอเชียมีส่วนบนของศีรษะเป็นโหนกนูนสองโหนก
- ใบหู –ช้างอาฟริกามีใบหูใหญ่กว่าช้างเอเชียมากอย่างเห็นได้ชัด คือใบหัวมีขนาดเกือบเท่าศีรษะทีเดียว ช้างเอเชียมีใบหูขนาดเล็กกว่าศีรษะมาก
- งา –ช้างอาฟริกาทั้งสองเพศมีงา ส่วนช้างเอเชียเฉพาะตัวผู้เท่านั้นที่มีงา ช้างเอเชียตัวเมียไม่มีงา มีเพียง “ขนาย” คือส่วนที่ลักษณะคล้ายงาอันเล็กๆยื่นออกมาจากบริเวณด้านข้างทั้งสองข้างของโคนงวง
- หลัง – หลังของช้างอาฟริกาจะแบนราบจนดูเหมือนแอ่นบริเวณที่ต่อจากศีรษะและช่วงไหล่และไปโหนกนูนบริเวณท้ายส่วนสะโพก ส่วนช้างเอเชียจะมีหลังที่โค้งนูนตั้งแต่บริเวณต่อจากช่วงไหล่ไป
- ช้างแต่ละตัวมีรูปร่างหน้าตาและอุปนิสัยไม่เหมือนกัน
นอกจากจะมีบุคลิกภาพและนิสัยต่างกัน เช่นเดียวกับคนแล้ว ช้างแต่ละตัวยังมีรูปร่างหน้าตาต่างกัน เราสามารถบอกลักษณะที่แตกต่างเพื่อจดจำว่าตัวไหนเป็นตัวไหนได้ไม่ยากด้วยการสังเกตความแตกต่างเช่น ใบหู ติ่งหู (ใบหูตั้งหรือพับไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ติ่งหูแหลม หรือมน) รูปหน้า กว้างหรือแคบ โหนกหน้าผาก (นูนหรือแบน) งวง (โคนงวงกว้างหรือแคบ มีสีหรือจุดด่างหรือไม่) ดวงตา เบ้าตา (ตานูน ตาเรียบ มีรอยย่นรอบตามากน้อย ลักษณะอย่างไร) หาง (ขนหาง เต็มหรือแหว่งอย่างไร สีและลักษณะขนหาง) โครงสร้างร่างกาย (ความสูง รอบอก รอบพุง เท้า เล็บ) งา (ชี้เข้า ชี้ออก โค้งมากหรือน้อย ความยาวของงา สีและรอยแตก รอยบิ่นต่างๆ) หรือแม้แต่ท่าทางต่างๆและลักษณะการเดิน ฯลฯ อุปนิสัยก็ต่างกันเหมือนคน เช่นบางตัวขี้ตื่น ตกใจง่าย บางตัวจิตใจนิ่งมั่นคง บางตัวชอบเล่นแรงๆหรือรังแกตัวอื่น บางตัวอ่อนโยน บางตัวชอบส่งเสียงสื่อสารพูดคุยกับตัวอื่น ช้างตัวเมียจะส่งเสียงคุยกันมากกว่าช้างตัวผู้ด้วย
- เมื่อพบเห็นช้างตกมันท่านสามารถขอความช่วยเหลือจากสถาบันคชบาลแห่งชาติ โทร. 054-228208, 054-228108 หรือ 081-8845834, 0898553700 หรือที่มูลนิธิช้าง โทร.02-6537431, 081-8302535 ซึ่งจะประสานงานและจัดทีมเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญออกจัดการอย่างถูกวิธีกับช้างที่ตกมันและอาละวาด (รวมทั้งช้างบาดเจ็บหรือปัญหารุนแรงอื่นๆเกี่ยวกับช้าง
- ครอบครัวจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการอยู่รอดของช้าง
ช้างสามารถสื่อสารกันเองได้แม้จะอยู่ห่างกันถึง 8กิโลเมตร ด้วยเสียงคลื่นความถี่ต่ำซึ่งหูของมนุษย์ไม่สามารถได้ยิน ช้างเป็นสัตว์ที่มีความผูกพันธ์และรักครอบครัว (สมาชิกที่อยู่ในโขลงเดียวกัน) มีการช่วยเหลือกันและกันตั้งแต่การคลอดลูก การดูแลลูกที่เพิ่งเกิดเพื่อให้แม่ช้างที่เพิ่งคลอดได้พักผ่อน ปกป้องคุ้มครองกันและกันโดยเฉพาะลูกช้างเล็กๆในโขลงจากอันตรายไม่ว่าสิ่งใดๆ เมื่อช้างไม่พอใจ ต้องการขู่ผู้รุกราน หรือแสดงการปกป้องลูกน้อยหรือฝูงของมัน มันจะส่งเสียงแปร๋นแหลมดังหรือพร้อมกับใช้งวงฟาดกับพื้นจนเกิดเสียงดังน่ากลัวเพื่อเตือนหรือขู่ให้ศัตรูถอยไป ความผูกพันธ์ระหว่างกันนี้มีความจำเป็นในการดำรงเผ่าพันธุ์ของช้างอย่างยิ่ง
- เมตตาช้าง ช่วยช้างด้วย
ช่วยกันเป็นหูเป็นตาและ ไม่สนับสนุนธุรกิจหรือการกระทำที่ขาดความเมตตาต่อช้าง เช่นกระบวนการนำช้างไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมเช่น การส่งออกไปขายยังต่างประเทศซึ่งขาดควาญหรือคนเลี้ยงที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ การใช้ช้างเพื่อธุรกิจการแสดงหรือการท่องเที่ยวซึ่งไม่จัดหาสถานที่อาศัยและแหล่งน้ำที่เหมาะสมต่อช้าง เช่นเมื่อว่างจากการแสดงก็ให้ช้างอยู่ในโรงพื้นคอนกรีตนานๆ โรงเรือนที่สกปรกคับแคบ ขาดร่มเงา ร้อนอบอ้าว บังคับให้ช้างเดินลงในแหล่งน้ำสกปรก หรือกักขังในที่คับแคบเป็นเวลานานๆเพื่อดึงดูดผู้ชมและหารายได้ ให้อาหารซ้ำๆหนึ่งหรือสองชนิด ให้น้ำดื่มที่ไม่สะอาดพอ การแสดงที่ช้างต้องเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ใช้ขอแหลมจิกหรือตีแรงๆเพื่อให้ช้างทำตามที่คนต้องการให้รวดเร็วทันใจคนเช่นวิ่งกลับตัวไปมาอย่างรวดเร็วเพื่อแข่งฟุตบอลซึ่งขัดกับสรีระของช้างอย่างมาก หรือการนำช้างไปเร่ร่อนขายกล้วย อ้อยตามถนนในเมือง และพักอาศัยตามพื้นที่รกร้างที่อาจเกิดอันตรายจากสายไฟฟ้า ฯลฯ
- กล้วยและอ้อยไม่ใช่อาหารหลักสำหรับช้าง
อาหารตามธรรมชาติของช้างคือหญ้าต่างๆ เปลือกไม้ กิ่งและใบไม้ต่างๆ เช่นกิ่งและใบไผ่ หน่อไม้ ลูกไม้ต่างๆฯลฯโดยช้างจะเลือกกินตามฤดูกาลและถิ่นที่อยู่ อาหารที่ให้ช้างที่เลี้ยงดูควรมีความหลากหลาย การให้อาหารชนิดซ้ำๆ หรือผิดๆมีผลต่อฟันและสุขภาพของช้างโดยตรง และช้างยังต้องการแร่ธาตุต่างๆอีกหลายชนิดที่หาได้จากโป่งดินในธรรมชาติ
- ช้างกินจุและกินแทบตลอดทั้งวัน (นอกจากเวลาล้มตัวลงนอนวันละประมาณสามชั่วโมง)
ช้างที่โตเต็มที่แล้วต้องการอาหารวันละ 200-250 กิโลกรัม และต้องการอาหารหลากหลายไม่ใช่หนึ่งหรือสองชนิด ช้างที่ถูกนำมาเลี้ยงมักไม่ค่อยได้รับอาหารที่หลากหลาย และสารอาหารที่ครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย หลายๆแห่งพบว่า เจ้าของที่มีความเข้าใจเรื่องนี้พยายามที่จะเสริมด้วยอาหารที่จะชดเชยสารอาหารที่ขาดไปเพราะขาดความหลากหลายเช่น ผลิตอาหารเม็ด ที่มีสารอาหารและแร่ธาตุที่ช้างต้องการ ให้รำข้าวผสมเพื่อเพิ่มแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ให้มะขามเปียกกับเกลือเม็ดฯลฯ แม้บางกรณีอาหารเหล่านั้นอาจขาดความอร่อยไปบ้างเมื่อเทียบกับพืชผักและผลไม้สดนานาชนิดตามธรรมชาติก็ยังนับว่าเป็นความพยายามที่น่ายกย่อง บางแห่งพยายามหาซื้อผลไม้หลายชนิดที่เป็นอาหารที่ช้างชอบเช่นกล้วย อ้อย มะละกอ หรือผลไม้อื่นๆ แต่จะทำได้ก็เพียงครั้งคราวเพราะวิธินี้ค่าใช้จ่ายจะสูงมากเนื่องจากช้างกินอาหารปริมาณมหาศาลทุกวัน และยังเสี่ยงต่อการได้รับสารฆ่าแมลงที่ตกค้างบนผลไม้บางชนิดถ้าให้กินจำนวนมาก ส่วนช้างที่คนนำมาเดินเร่ร่อนในเมืองนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้อาหารพอเพียงต่อความต้องการตามธรรมชาติของช้างในแต่ละวัน ดังนั้นยิ่งนำช้างมาเดินเร่ร่อนในเมืองนานเท่าใด ช้างนั้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่ออันตรายและปัญหาสุขภาพมากขึ้นเท่านั้น เคยมีกรณีที่ช้างเร่ร่อนในกรุงเทพฯกินแตงโมและตายอย่างทรมานเพราะสารพิษที่ตกค้าง หรือถูกไฟฟ้าดูด หรือรถชนบาดเจ็บและตายในที่สุด [เช่นกรณีพลายบุญมีช้างเร่ร่อนกินแตงโมเป็นพิษเสียชีวิต, พังแสงเดือนเดินตกท่อแถวเดอะมอลล์ท่าพระ เมื่อ 21มกราคม2547, พลายโตโต้ช้างเร่ร่อนดึงเถาวัลย์กินถูกไฟดูดตายแถวบางขุนเทียน เมื่อกรกฎาคม 2547 อายุเพียง4 ปี, (ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)]
- เมตตาช้าง เลี้ยงด้วยความเข้าใจ
เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่โต มีพละกำลังมาก การเลี้ยงดูช้างอย่างเหมาะสมจะทำให้ทั้งช้างและคนอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนต้องหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของช้าง ที่อยู่อาศัย อุปนิสัย อาหารการกินของเขา และเข้าใจการสื่อความหมายต่างๆจากพฤติกรรมของเขา การสอนช้างให้เข้าใจคำสั่ง การควบคุมให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ตลอดจนสอนให้ช้างเข้าใจและให้ความร่วมมือกับคนในทุกๆเรื่องสำคัญมากสำหรับช้างทุกๆตัว เช่นบางครั้งเราอาจจำเป็นต้องตรวจดูใต้เท้าของช้างเมื่อ สงสัยว่าอาจถูกอะไรตำเท้าอยู่ หากช้างไม่เคยได้รับการฝึกให้ยกเท้าให้ตรวจ ให้ความไว้วางใจคนว่าจะไม่ทำอันตรายเขา เราก็จะไม่สามารถช่วยเหลือเขาได้ หรือช้างอยากเล่นหยอกล้อกับคนแต่ไม่รู้ประมาณพละกำลังของตัวเองก็อาจทำให้คนบาดเจ็บ หรือช้างไม่เชื่อฟังไม่รู้จักคำสั่งเมื่อถูกขัดใจก็อาจทำร้ายคนได้ เป็นต้น
- เลี้ยงอย่างเหมาะสมมีความสุขทั้งคนและช้าง ความเข้าใจธรรมชาติของช้างและรู้จักฝึกหัดช้างตั้งแต่ลูกช้างยังเยาว์วัยจะช่วยให้เราสามารถค่อยๆปรับพฤติกรรมของช้างให้เขาเป็นมิตรกับคน มีนิสัยดี ไม่ทำลายข้าวของหรือทำร้ายผู้คน หลักการกว้างๆคือพฤติกรรมใดที่เราไม่ต้องการให้ลูกช้างประพฤติเมื่อโตขึ้นก็ต้องไม่สนับสนุนให้เขาทำตั้งแต่วัยเยาว์ เช่นเดียวกับมนุษย์ เช่น โดยธรรมชาติลูกช้างเล่นกันเองจะมีการวิ่งเข้าหาและเอาหัวชน เอาเท้าเตะหรือดันกัน ซึ่งเป็นทั้งการเล่นและการเรียนรู้ตามธรรมชาติ หากเราเล่นกับเขาด้วยก็คือเราตอบสนองและยอมรับการเล่นแบบนั้น เขาก็จะทำแบบนั้นไปเรื่อยๆด้วยความสนุก แต่เมื่อโตขึ้นการชน การเตะ ก็รุนแรงขึ้นตามขนาดของร่างกายจนเป็นอันตรายต่อคนได้ เราจะห้ามเขาตอนนั้นก็จะไม่ได้ผลแล้ว กรณีเช่นนี้มีลูกช้างอายุ 3-4 ปีขึ้นไปหลายรายที่ต้องถูกล่ามโซ่กักขังตลอดเวลาเพราะซนและเล่นรุนแรงจนคนไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งก็เป็นผลจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมเพราะขาดความเข้าใจในพฤติกรรมในแต่ละวัยของช้าง [เช่นกรณีของพลายมงคลช้างขวัญของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ในอดีตสมัยรัชกาลที่ห้า ซึ่งถูกเลี้ยงตัวเดียวไม่เคยรู้จักช้างอื่น ใกล้ชิดสนิทสนมกับคนในยามเป็นเด็กหรือลูกช้างเล็กๆ แต่เมื่อตกมันและถูกแหย่ถูกล้อตามปกติก็ทำร้ายคนรวมทั้งคนเลี้ยง ในที่สุดถูกส่งไปอยู่ในชนบทและเสียชีวิตเพราะพลัดตกจากตลิ่งสูงชันเนื่องจากหยั่งน้ำหนักตนเองไม่ถูก เนื่องจากไม่เคยเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากแม่หรือโขลงช้างในวัยเยาว์ “เจ้าพลายถูกจับไปจองจำในซองแคบๆ ที่สุดท่านเจ้าพระยาเทเวศรฯก็จำใจส่งพลายมงคลคืนไปยังพระเจ้าเชียงใหม่....เพราะเห็นว่าไม่สามารถให้ความสุขแก่พลายมงคลได้และการเลี้ยงช้างอย่างเลี้ยงสัตว์เล็กๆหรือ(เลี้ยง)เกือบจะเหมือนมนุษย์นั้นได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นความหลงใหลผิดพลาด”, ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ, เรื่องของช้างพลายมงคลผู้อาภัพ (ศึกษาภัณฑ์พาณิช)
- แทบไม่มีป่าที่ปลอดภัยในโลกนี้สำหรับช้างอีกแล้ว
ความจริง ชีวิตที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับช้างก็คือการได้อยู่อาศัย หากินเองและขยายพันธุ์ ตามธรรมชาติในป่าอย่างที่บรรพบุรุษของมันเคยเป็นมา แต่ในปัจจุบันหากเรานำช้างไปปล่อยในป่าก็เท่ากับการส่งพวกเขาไปเสี่ยงต่อความตายจากน้ำมือมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวบางกลุ่มที่จ้องจะฆ่าช้างเอางา ฆ่าแม่ช้างเอาลูกไปขาย และในปัจจุบันการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นการขยายพื้นที่การเกษตร การตัดและขยายถนน หรือ การบุกรุกป่า การตัดไม้ทำลายป่า กลายเป็นปัญหาหลักที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของช้างและสัตว์ป่าอื่นๆอย่างรุนแรงคือทำให้สัตว์ป่าขาดที่อยู่อาศัยและที่หากินจนต้องเข้ามากินพืชผลที่คนปลูกไว้ ในที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่หากินตามปกติของพวกเขา ช้าง(และสัตว์ป่า)ที่ถูกเบียดเบียน กลับกลายเป็นผู้บุกรุกและผู้ทำลาย ก่อความเสียหายและต้องถูกจัดการ (ช้างในประเทศอื่นๆเช่นอินเดีย หรือในอาฟริกาก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้) การนำช้างมาเลี้ยงไว้ในที่ที่เหมาะสมตามแต่โอกาสอันควรจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย และการให้ช้างได้ทำงานหรือกิจกรรมต่างๆบ้างเช่นการแสดงที่เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของช้าง จะเป็นการให้ช้างได้เคลื่อนไหว ได้ออกกำลังกาย ฝึกการเชื่อฟังคำสั่งง่ายๆ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ ความพึ่งพากันระหว่างช้างกับคนเป็นอย่างดี
- คนเลี้ยงช้างก็ต้องการความช่วยเหลือ
เนื่องจากการเลี้ยงช้างมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ควาญช้างหรือเจ้าของช้างนั้นยากที่จะรับมือกับค่าใช้จ่ายและภาระต่างๆในการเลี้ยงดูช้างของตนได้ ควาญช้างและเจ้าของทั้งหลายจึงจำเป็นต้องหากิจกรรมให้ช้างและคนได้ทำเพื่อหารายได้มาจุนเจือค่าอาหารช้างและใช้จ่ายเหล่านั้น ตัวอย่างการคำนวนค่าใช้จ่ายในการมีช้างห้าเชือกไว้ในครอบครอง ในระดับคุณภาพที่เหมาะสม
ค่าอาหารช้าง 5 เชือก (กล้วย หญ้า อ้อย ฟัก มะขามเปียก เกลือเม็ด ฯลฯ) เฉลี่ยกก.ละ 3ถึง5 = 4 บาท
ปริมาณอาหารต่อตัวต่อวันเฉลี่ย 200 กก. เท่ากับ 200กก. x 5ตัว x 4บาท x 30วัน เท่ากับ 120,000 ต่อเดือน
ควาญช้าง 5 คน และคนงาน 2 คน เงินเดือน เฉลี่ย/คน/เดือน 5,500 บาท X 7 คนเท่ากับ 38,500 ต่อเดือน
ค่าใช้จ่ายอื่นๆเช่น ค่าอาหารและที่พักสำหรับคน ค่าไฟฟ้า น้ำมันรถ ซ่อมบำรุงและอุปกรณ์ต่างๆ 30,000 ต่อเดือน
รวมค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 188,500 บาท
กรณีช้างป่วยอาจมีค่าใช้จ่ายในการซื้อหายาโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะอาจสูงถึงหลายหมื่นบาทต่อการป่วยหนึ่งครั้ง ซึ่งยาบางอย่างมีราคาแพงและใช้ปริมาณมากทางมูลนิธิที่มีสัตวแพทย์ให้การรักษาก็อาจจะไม่สามารถรับภาระนั้นเพียงฝ่ายเดียวได้ จำเป็นที่เจ้าของช้างจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วยตนเอง
No comments:
Post a Comment