Friday, May 29, 2009

การแสดงช้างอาบน้ำ - ช้างชอบอาบน้ำจริงหรือไม่? Bathing Show - Do elephants always enjoy bathing?

ตามสถานที่ๆต้องใช้ช้างรับนักท่องเที่ยวให้ขี่ช้าง ควาญหรือคนเลี้ยงช้างต้องทำความสะอาดช้างก่อน โดยให้ช้างอาบน้ำโดยลงไปในน้ำทั้งตัว เพื่อล้างเอาดินโคลนและเศษฝุ่นเศษใบไม้กิ่งไม้ออกจากตัว (ช้างมักใช้งวงจับใบไม้ใบหญ้า หรือกอบเอาดินทราย ดูดเอาโคลนและน้ำพ่นใส่หัวและหลังตนเองเสมอๆ เพื่อเป็นการระบายความร้อน ไล่และป้องกันแมลง เมื่อปล่อยให้ช้างอยู่ตามลำพัง เช่นนำไปล่ามทิ้งไว้ในไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน หากสถานที่นั้นมีสิ่งต่างๆอย่างที่กล่าวมา ช้างทุกตัวจะทำเช่นนี้เป็นธรรมชาติ) ในบางสถานที่ก็ใช้การอาบน้ำของช้างเป็นการแสดงชนิดหนึ่งเพื่อให้นักท่องเที่ยวชม เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำ และดำผุดดำว่าย เอางวงพ่นน้ำฯลฯ ซึ่งปกติก็เป็นสิ่งที่น่าดูอย่างยิ่ง แต่ในฤดูหนาว ตามธรรมชาติ ช้างเองก็ต้องสงวนพลังงานคือความร้อนไว้ในร่างกาย เมื่อถูกบังคับให้ลงน้ำในเวลาเช้าก็เป็นความทรมานอย่างหนึ่ง ถ้าสังเกตให้ดี เราอาจเห็นว่าช้างเหล่านั้นมักอิดออดไม่ยอมลงน้ำง่ายๆ แต่ในที่สุดก็ต้องทำตามทุกครั้งเพราะมิฉะนั้นควาญจะลงโทษ น้ำเย็นในเช้าตรู่ในฤดูหนาวอาจทำให้ช้างเจ็บป่วยได้เช่นเดียวกับคนหากต้องลงแช่น้ำเย็นทั้งตัวเช่นนี้บ่อยๆ หากในสถานที่ใดสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำความสะอาด เฉพาะในฤดูหนาว เช่นเปลี่ยนเป็นเอากิ่งไม้ใบไม้เป็นกำๆฟาดบนหัวและหลังช้างเพื่อปัดฝุ่นออกและฉีดน้ำล้างพร้อมเอาแปรงขัดฝุ่นโคลนออก หรือเลื่อนเวลาแสดงช้างอาบน้ำให้สายขึ้นถ้าทำได้ ก็จะเป็นความกรุณาเล็กๆน้อยๆที่คนสามารถมอบให้แก่ช้างเหล่านั้นซึ่งช้างเองก็ทำประโยชน์คือทำรายได้ตอบแทนให้และให้ความสนุกสนานแก่คนเช่นกัน

นอกจากเรื่องอาบน้ำนี้ หลายคนก็ยังคิดแทนช้างว่า ช้างตากฝนนานๆได้ ช้างไม่หนาว เพราะช้างนั้นหนังหนา ช้างแข็งแรงฯลฯ แต่ในความเป็นจริง ลองเดินเข้าป่าพร้อมกับช้างโดยปล่อยให้ช้างเลือกที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งต่างๆเองตามความต้องการของเขา เราจะพบว่า ช้างอาจจะยินดียืนหยิบเปลือกไม้ใบไม้กินกลางฝนในระดับหนึ่ง แต่เมื่อตกค่ำหรืออากาศหนาวเย็น และมีฝนตก ช้างก็จะหาที่หลบฝน หาที่อยู่ที่อุ่นสบายเช่นกัน เคยเห็นช้างพลายรุ่นๆตัวหนึ่ง เอางาแทงจอมปลวก เอางวงและเท้าตะกุยให้ดินร่วนซุยและล้มลงนอนเกลือกกลิ้งบริเวณนั้น ราวกับว่าได้ที่นอนแสนสุขสบายแล้ว ผมเลือกตรงนี้แหละใครจะไปไหนก็ไปเถอะ ความเชื่อผิดๆเรื่องความอดทนและความไม่รู้สึกสะทกสะท้านต่อความร้อนเย็น ความเจ็บปวดของช้างที่ถูกบอกเล่าต่อๆกันมานั้นมักออกไปในแนวราวกับว่าช้างเป็นเครื่องจักรชนิดหนึ่งที่แทบจะไม่มีความรู้สึกอะไรต่อสภาพแวดล้อมเลย

ช้างมีผิวหนังย่นไปทั้งตัว หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าผิวหนังและรอยย่นขนตัวช้างนั้นตามจุดต่างๆก็มีลักษณะต่างกัน รอยย่นทำให้เกิดร่องระหว่างผิวหนังจำนวนมากซึ่งช่วยระบายความร้อนให้ช้างได้เปนอย่างดี คือเมื่อช้างขึ้นจากการแช่น้ำ น้ำจะยังคงค้างอยู่ตามซอกหรือตามรอยย่นระหว่างผิวหนัง และจะค่อยๆระเหยไปช้าๆ ช่วยลดอุณหภูมิร่างกายของช้างในวันอากาศร้อนได้เป็นอย่างดี แต่ในฤดูหนาว การบังคับให้ช้างต้องอาบน้ำในยามเช้าโดยการลงไปแช่น้ำทั้งตัว ย่อมเป็นสิ่งที่ช้างไม่อยากทำ เพราะขัดกับธรรมชาติในการดูแลตนเองของช้าง หากนักท่องเที่ยวหรือผู้ชมช่วยกันปฏิเสธไม่อยากชมช้างอาบน้ำยามเช้าในวันที่อากาศหนาวเย็นก็จะเป็นความกรุณาต่อช้างอย่างยิ่ง

ทุกๆเช้าควาญช้างแต่ละคนจำเป็นต้องล้างดินโคลนที่ช้างโดยหรือพ่นใส่ตามตัวและหัวมาตลอดทั้งคืน ก่อนที่จะนำช้างไปแสดงหรือใส่แหย่งให้นักท่องเที่ยวนั่ง แต่ในฤดูหนาวก็สามารถใช้วิธีการเอาไม้กวาด หรืออุปกรณือื่นๆปัดฝุ่นออกและใช้สายยางฉีดน้ำล้างอีกครั้ง โดยเน้นล้างบนกัวและหลังบริเวณที่ต้องวางแหย่งก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีเศษกรวดทรายชิ้นโตๆเสียดสีกับผิวหนังช้างอยู่ใต้แหย่ง

No comments:

Post a Comment