Friday, May 15, 2009

ช้างไม่เหมาะที่จะอยู่ตัวเดียวหรือถูกเลี้ยงเดี่ยวๆ Elephants are not meant to be kept alone, SO, DON'T!

ครอบครัวจำเป็นอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของช้าง
ช้างสามารถสื่อสารกันเองได้แม้จะอยู่ห่างกันถึง 8กิโลเมตร ด้วยเสียงคลื่นความถี่ต่ำซึ่งหูของมนุษย์ไม่สามารถได้ยิน ช้างเป็นสัตว์ที่มีความผูกพันธ์และรักครอบครัว (สมาชิกที่อยู่ในโขลงเดียวกัน) มีการช่วยเหลือกันและกันตั้งแต่การคลอดลูก การดูแลลูกที่เพิ่งเกิดเพื่อให้แม่ช้างที่เพิ่งคลอดได้พักผ่อน ปกป้องคุ้มครองกันและกันโดยเฉพาะลูกช้างเล็กๆในโขลงจากอันตรายไม่ว่าสิ่งใดๆ เมื่อช้างไม่พอใจ ต้องการขู่ผู้รุกราน หรือแสดงการปกป้องลูกน้อยหรือฝูงของมัน มันจะส่งเสียงแปร๋นแหลมดังหรือพร้อมกับใช้งวงฟาดกับพื้นจนเกิดเสียงดังน่ากลัวเพื่อเตือนหรือขู่ให้ศัตรูถอยไป ความผูกพันธ์ระหว่างกันนี้มีความจำเป็นในการดำรงเผ่าพันธุ์ของช้างอย่างยิ่ง


ช้างไม่เหมาะที่จะอยู่ตัวเดียวหรือถูกเลี้ยงเดี่ยวๆ ช้างเป็นสัตว์สังคม
ในธรรมชาติจะอาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม (โขลง) ตั้งแต่ 10-30เชือก โดยมีช้างตัวเมียที่มีอาวุโสและประสบการสูงเป็นหัวหน้า (เรียกว่าแม่แปรก) และช่วยกันดูแลลูกช้างรุ่นอายุต่างๆกันในโขลง มีการเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์การดำรงชีวิตเรื่องการหาอาหาร แหล่งน้ำ ยารักษาโรค การป้องกันตัวจากสิ่งที่อาจเป็นอันตราย และศัตรูตามธรรมชาติ ฯลฯ ช้างสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอด้วยการดม การสัมผัสและการใช้เสียง ช้างต้องการเพื่อนหรือครอบครัวเช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์สังคมอื่นๆ การที่ช้างถูกขังอยู่ตัวเดียวหรือเลี้ยงดูเดี่ยวๆ ไม่เคยเห็นช้างตัวอื่นเลยในชีวิต จะทำให้มันขาดการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆที่จำเป็นสำหรับชีวิต ไม่มีความสุข และอาจมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ (ช้างเลี้ยงตัวเดียวมักมีปัญหาสุขภาพจิต) หลายๆกรณีที่มีคนนำช้างมาเลี้ยงเพียงตัวเดียว และใกล้ชิดราวกับเป็นลูกคน และให้อาหารแปลกๆเช่นไอสครีม ขนม ของหวาน และอาหารอื่นๆของคน และเห็นว่าน่าเอ็นดูที่ลูกช้างกินอาหารแปลกๆนั้นได้ การทำเช่นนี้มีผลเสียต่อช้างอย่างยิ่ง ช้างเหล่านี้มักตายตั้งแต่ยังอายุยังน้อย ไม่เคยมีใครลงมือชันสูตรว่าเขาตายเพราะอะไร แต่สันนิษฐานว่าการขาดภูมิคุ้มกันโรคเพราะขาดสารอาหาร การเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมทำให้เจ็บป่วยง่ายและรุนแรง หรือเมื่ออยู่รอดจนโตก็มักมีปัญหาในการควบคุมให้ปลอดภัยต่อคนรอบข้างและในที่สุดช้างนั้นมักถูกทำลาย เช่นถ้าเป็นตัวผู้ก็มักถูกทำร้ายหรือฆ่าตายเมื่อตกมันและอาละวาด ทั้งๆที่การตกมันเป็นธรรมชาติของช้างหนุ่มที่แสดงถึงความสมบูรณ์ของร่างกาย และมีวิธีการจัดการและดูแลป้องกันอย่างเหมาะสมที่จะไม่เกิดอันตรายต่อผู้ใด

กรณีตัวอย่างการนำลูกช้างมาเลี้ยงตัวเดียวลำพัง ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม
  • พลายมงคลช้างขวัญของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ในอดีตสมัยรัชกาลที่ห้า ซึ่งถูกเลี้ยงตัวเดียว ใกล้ชิดสนิทสนมกับคนในบ้านเมื่อเป็นลูกช้างเล็กๆ แต่เมื่อโตขึ้นจนถึงวัยตกมันและถูกแหย่ถูกล้อตามปกติก็ทำร้ายคนรวมทั้งคนเลี้ยง จึงต้องถูกกักขัง ล่ามโซ่ ในที่สุดถูกส่งไปอยู่ในชนบทและเสียชีวิตเพราะพลัดตกจากตลิ่งสูงชันเนื่องจากหยั่งน้ำหนักตนเองไม่ถูก ในการเดินบนพื้นที่ภูมิประเทศที่แตกต่างไป “...เจ้าพลายถูกจับไปจองจำในซองแคบๆ ที่สุดท่านเจ้าพระยาเทเวศรฯก็จำใจส่งพลายมงคลคืนไปยังพระเจ้าเชียงใหม่....เพราะเห็นว่าไม่สามารถให้ความสุขแก่พลายมงคลได้และการเลี้ยงช้างอย่างเลี้ยงสัตว์เล็กๆหรือ(เลี้ยง)เกือบจะเหมือนมนุษย์นั้นได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นความหลงไหลผิดพลาด”, ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ, เรื่องของช้างพลายมงคลผู้อาภัพ (ศึกษาภัณฑ์พาณิช)

  • กรณีพลายมงคล ช้างของขวัญของนักธุรกิจครอบครัวหนึ่งถูกเลี้ยงตัวเดียวในบ้านชานกรุงเทพฯ มีคนเล่นใกล้ชิดเมื่อยังเล็ก เมื่อโตขึ้นเพื่อนเล่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่แยกย้ายห่างไป ที่ดินรอบข้างกลายเป็นโรงงาน ช้างจึงไม่มีที่เดิน ที่เล่นและเพื่อนๆที่เคยใกล้ชิดอีกต่อไป ช้างจึงถูกล่ามโซ่ตลอด24ชั่วโมงจนกลายเป็นช้างดุร้ายอารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย กลัวช้างด้วยกันเพราะไม่เคยเห็นช้างอื่นมาก่อน ในที่สุดถูกยกให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไปเลี้ยงดูปรับพฤติกรรมและจิตใจ ธีรภาพ โลหิตกุล, คนรักษ์ช้าง,(ประพันธ์สาส์น, ตุลาคม 2544)

กรณีพลายเพชร –ถูกเลี้ยงตัวเดียวตั้งแต่เล็กทำนองเดียวกันกับพลายมงคล ในวัดแห่งหนึ่ง เมื่อโตขึ้นโดนล่ามโซ่เกือบตลอดเวลาจนเท้าเป็นแผลจากโซ่และจากพื้นที่อยู่อาศัยแฉะสกปรกจากมูลและปัสสาวะของช้างเอง สุดท้ายพลายเพชรถูกเจ้าหน้าที่รุมยิงเสียชีวิตเมื่อตกใจวิ่งไปในที่ชุมชนเมื่อ 29ธันวาคม2539 อายุ29 ปี Ping Amranand and William Warren, The Elephant in Thai life & Legend, (Monsoon Editions Ltd. Partnership, 1999)]

No comments:

Post a Comment