Wednesday, June 3, 2009

ดูช้างให้สนุก Different ways to enjoy the elephants without causing them discomfort


ลองหัดสังเกตุรูปร่างหน้าตาของช้างแต่ละตัว โดยดูลักษณะของอวัยวะต่างๆที่ละส่วนเราจะเห็นว่าช้างแต่ละตัวมีรูปร่างหน้าตาต่างกันเช่นเดียวกับคนแต่ละคน และลองหันมา "ดูช้าง" โดยดูพฤติกรรมต่างๆ และอากัปกริยาที่น่ารักและขำๆตามธรรมชาติของช้างกันบ้าง ท่านจะพบว่า การ"ดูช้าง" แบบนี้สนุกและสบายใจกว่าการดู "การแสดงช้าง"อย่างที่เราเห็นกันทั่วๆไป


เราสามารถบอกลักษณะที่แตกต่างเพื่อจดจำว่าตัวไหนเป็นตัวไหนได้ไม่ยากด้วยการสังเกตความแตกต่างเช่น รูปร่างของใบหู และติ่งหู (ใบหูตั้งหรือพับไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ติ่งหูแหลม หรือมน) รูปหน้า กว้างหรือแคบ โหนกหน้าผาก (นูนหรือแบน) งวง (โคนงวงกว้างหรือแคบ มีสีหรือจุดด่างหรือไม่) ดวงตา เบ้าตา (เปลือกตานูน หรือเปลือกตาเรียบ มีรอยย่นรอบตามากหรือน้อย ลักษณะอย่างไร) หาง (ขนหาง เต็มหรือแหว่งอย่างไร สีและลักษณะขนหาง) คอ(สั้นหรือยาว) โครงสร้างร่างกาย (ความสูง รอบอก รอบพุง เท้า เล็บ) งา (ชี้เข้า ชี้ออก โค้งมากหรือน้อย ความยาวของงา สีและรอยลายงา และรอยบิ่นต่างๆ) หรือแม้แต่ท่าทางต่างๆและลักษณะการเดิน ฯลฯ

แม้อุปนิสัยก็ต่างกันเหมือนคน เช่นบางตัวขี้ตื่น ตกใจง่าย บางตัวจิตใจนิ่งมั่นคง บางตัวชอบเล่นแรงๆหรือรังแกตัวอื่น บางตัวอ่อนโยน บางตัวชอบส่งเสียงสื่อสารพูดคุยกับตัวอื่น การรู้จักและจำได้ว่าช้างตัวไหนคือตัวไหน จะช่วยให้เราดูช้างได้อย่างสนุกสนานขึ้น

ปัจจุบันมีสถานที่ที่เลี้ยงช้างเพื่อการอนุรักษ์ คือไม่มีการฝึกช้าง หรือการแสดงใดๆ มีเพียงให้นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยี่ยมชม ได้ชมช้างเดินเล่น หากิน หยอกล้อกันในโขลง และให้อาหารช้างเท่านั้น เมื่อเราเฝ้าดูช้างนานพอสมควร เราอาจเห็นลูกช้างเล่นอยู่ตัวเดียวโดยฟัดเล่นเหมือนต่อสู้กับต้นไม้ เดี๋ยเตะเดี๋ยวกัด เดี๋ยวล้มตัวลงนอน เดี๋ยวลุกขึ้น เหมือนเด็กๆ ส่วนช้างใหญ่ก็มีท่าทางน่าขำเช่นบางตัวก็หมั่นเอางวงกวาดเอาสิ่งที่เราคิดว่าสกปรก เช่นเศษใบไม้ ใบหญ้ารวมทั้งดินทรายฯลฯ โยนขึ้นไปบนหัวและหลังซ้ำๆซากๆอย่างหน้าตาเฉย มองไปจะเห็นของเหล่านั้นวางอยู่เต็มหัวอย่างน่าตลก แม้การเอางวงหยิบใบหญ้าเป็นกำๆฟาดไปมากับข้อเท้าของตัวเองเพื่อปัดฝุ่นออกก่อนจะเอาเข้าปากก็ยังน่าสนใจคุ้มแก่การมองดู ถ้าโชคดีเราก็อาจเห็นช้างตัวเมียรุ่นๆพยายามทำตัวเป็นแม่ ดูแลช้างน้อยเล็กๆ เอางวงคอยดึงคอยปรามห้ามไม่ให้ซน ราวกับเด็กผู้หญิงเล่นบทแม่ยังไงยังงั้น...

Friday, May 29, 2009

อย่างไรที่เรียกว่า "ช้างตกมัน"? What is a "musth", how does it affect the elephants?



อาการตกมันคืออาการที่ช้างมีของเหลวคล้ายน้ำมันมีกลิ่นค่อนข้างแรงไหลออกมาจากรูเล็กๆที่ขมับทั้งสองข้าง และจากอวัยวะเพศของช้างตัวผู้ ช่วงที่มีอาการตกมันมากของเหลวนี้จะมีปริมาณมากและมีกลิ่นรุนแรง จนแม้แต่คนเราก็ยังสามารถได้กลิ่นเมื่อยืนอยู่ห่างๆ และสามารถมองเห็นได้ชัดเจนทั้งที่ขมับและที่ตั้งแต่บริเวณโคนขาหลังด้านในทั้งสองข้างลงมาจนถึงเท้าทั้งสองข้าง ช้างตัวผู้จะเริ่มตกมันเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ช้างที่ถูกใช้งานหนัก ขาดสารอาหาร ขาดการพักผ่อน หรือเจ็บป่วยจะไม่มีอาการตกมัน ช้างที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงและเป็นปกติจึงจะตกมัน ช้างที่ร่างกายสมบูรณ์อาจตกมันเป็นระยะเวลานานถึงสี่ห้าเดือน ในธรรมชาติช้างตัวเมียที่อยู่ในระยะเป็นสัด มักจะเลือกที่จะผสมพันธุ์กับช้างตัวผู้ที่กำลังตกมัน มากกว่าช้างตัวผู้อื่นๆ

เมื่อช้างตัวผู้อยู่ในระยะเวลาตกมัน ควาญช้างจะงดอาหารที่ให้พลังงานสูง คืออาหารพวกแป้งและน้ำตาลเช่น กล้วย อ้อย แต่จะให้อาหารที่ประกอบด้วยน้ำมากๆและเส้นใยเช่นหญ้าและฟักต่างๆ และมัดช้างไว้ใกล้แหล่งน้ำ แต่ให้ห่างจากผู้คนและช้างอื่น เพราะช้างที่อยู่ในระยะตกมันส่วนมากมักมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางกร้าวร้าวดุร้าย และอาจทำร้ายช้างอื่นหรือคนได้


ช้างตกมันทุกตัวดุร้าย ใช่หรือไม่?

ไม่ใช่ มีช้างที่อยู่ในระยะตกมันบางตัวที่พฤติกรรมไม่เปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงน้อย เช่นยังคงฟังคำสั่งควาญช้าง ยังคงให้ขี่คอไปไหนมาไหนตามปกติ แต่ช้างประเภทนี้มีน้อยกว่าประเภทแรก ช้างของใครเป็นเช่นนี้ถือเป็นโชคดีของควาญอย่างยิ่ง

การแสดงช้างอาบน้ำ - ช้างชอบอาบน้ำจริงหรือไม่? Bathing Show - Do elephants always enjoy bathing?

ตามสถานที่ๆต้องใช้ช้างรับนักท่องเที่ยวให้ขี่ช้าง ควาญหรือคนเลี้ยงช้างต้องทำความสะอาดช้างก่อน โดยให้ช้างอาบน้ำโดยลงไปในน้ำทั้งตัว เพื่อล้างเอาดินโคลนและเศษฝุ่นเศษใบไม้กิ่งไม้ออกจากตัว (ช้างมักใช้งวงจับใบไม้ใบหญ้า หรือกอบเอาดินทราย ดูดเอาโคลนและน้ำพ่นใส่หัวและหลังตนเองเสมอๆ เพื่อเป็นการระบายความร้อน ไล่และป้องกันแมลง เมื่อปล่อยให้ช้างอยู่ตามลำพัง เช่นนำไปล่ามทิ้งไว้ในไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน หากสถานที่นั้นมีสิ่งต่างๆอย่างที่กล่าวมา ช้างทุกตัวจะทำเช่นนี้เป็นธรรมชาติ) ในบางสถานที่ก็ใช้การอาบน้ำของช้างเป็นการแสดงชนิดหนึ่งเพื่อให้นักท่องเที่ยวชม เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำ และดำผุดดำว่าย เอางวงพ่นน้ำฯลฯ ซึ่งปกติก็เป็นสิ่งที่น่าดูอย่างยิ่ง แต่ในฤดูหนาว ตามธรรมชาติ ช้างเองก็ต้องสงวนพลังงานคือความร้อนไว้ในร่างกาย เมื่อถูกบังคับให้ลงน้ำในเวลาเช้าก็เป็นความทรมานอย่างหนึ่ง ถ้าสังเกตให้ดี เราอาจเห็นว่าช้างเหล่านั้นมักอิดออดไม่ยอมลงน้ำง่ายๆ แต่ในที่สุดก็ต้องทำตามทุกครั้งเพราะมิฉะนั้นควาญจะลงโทษ น้ำเย็นในเช้าตรู่ในฤดูหนาวอาจทำให้ช้างเจ็บป่วยได้เช่นเดียวกับคนหากต้องลงแช่น้ำเย็นทั้งตัวเช่นนี้บ่อยๆ หากในสถานที่ใดสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำความสะอาด เฉพาะในฤดูหนาว เช่นเปลี่ยนเป็นเอากิ่งไม้ใบไม้เป็นกำๆฟาดบนหัวและหลังช้างเพื่อปัดฝุ่นออกและฉีดน้ำล้างพร้อมเอาแปรงขัดฝุ่นโคลนออก หรือเลื่อนเวลาแสดงช้างอาบน้ำให้สายขึ้นถ้าทำได้ ก็จะเป็นความกรุณาเล็กๆน้อยๆที่คนสามารถมอบให้แก่ช้างเหล่านั้นซึ่งช้างเองก็ทำประโยชน์คือทำรายได้ตอบแทนให้และให้ความสนุกสนานแก่คนเช่นกัน

นอกจากเรื่องอาบน้ำนี้ หลายคนก็ยังคิดแทนช้างว่า ช้างตากฝนนานๆได้ ช้างไม่หนาว เพราะช้างนั้นหนังหนา ช้างแข็งแรงฯลฯ แต่ในความเป็นจริง ลองเดินเข้าป่าพร้อมกับช้างโดยปล่อยให้ช้างเลือกที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งต่างๆเองตามความต้องการของเขา เราจะพบว่า ช้างอาจจะยินดียืนหยิบเปลือกไม้ใบไม้กินกลางฝนในระดับหนึ่ง แต่เมื่อตกค่ำหรืออากาศหนาวเย็น และมีฝนตก ช้างก็จะหาที่หลบฝน หาที่อยู่ที่อุ่นสบายเช่นกัน เคยเห็นช้างพลายรุ่นๆตัวหนึ่ง เอางาแทงจอมปลวก เอางวงและเท้าตะกุยให้ดินร่วนซุยและล้มลงนอนเกลือกกลิ้งบริเวณนั้น ราวกับว่าได้ที่นอนแสนสุขสบายแล้ว ผมเลือกตรงนี้แหละใครจะไปไหนก็ไปเถอะ ความเชื่อผิดๆเรื่องความอดทนและความไม่รู้สึกสะทกสะท้านต่อความร้อนเย็น ความเจ็บปวดของช้างที่ถูกบอกเล่าต่อๆกันมานั้นมักออกไปในแนวราวกับว่าช้างเป็นเครื่องจักรชนิดหนึ่งที่แทบจะไม่มีความรู้สึกอะไรต่อสภาพแวดล้อมเลย

ช้างมีผิวหนังย่นไปทั้งตัว หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าผิวหนังและรอยย่นขนตัวช้างนั้นตามจุดต่างๆก็มีลักษณะต่างกัน รอยย่นทำให้เกิดร่องระหว่างผิวหนังจำนวนมากซึ่งช่วยระบายความร้อนให้ช้างได้เปนอย่างดี คือเมื่อช้างขึ้นจากการแช่น้ำ น้ำจะยังคงค้างอยู่ตามซอกหรือตามรอยย่นระหว่างผิวหนัง และจะค่อยๆระเหยไปช้าๆ ช่วยลดอุณหภูมิร่างกายของช้างในวันอากาศร้อนได้เป็นอย่างดี แต่ในฤดูหนาว การบังคับให้ช้างต้องอาบน้ำในยามเช้าโดยการลงไปแช่น้ำทั้งตัว ย่อมเป็นสิ่งที่ช้างไม่อยากทำ เพราะขัดกับธรรมชาติในการดูแลตนเองของช้าง หากนักท่องเที่ยวหรือผู้ชมช่วยกันปฏิเสธไม่อยากชมช้างอาบน้ำยามเช้าในวันที่อากาศหนาวเย็นก็จะเป็นความกรุณาต่อช้างอย่างยิ่ง

ทุกๆเช้าควาญช้างแต่ละคนจำเป็นต้องล้างดินโคลนที่ช้างโดยหรือพ่นใส่ตามตัวและหัวมาตลอดทั้งคืน ก่อนที่จะนำช้างไปแสดงหรือใส่แหย่งให้นักท่องเที่ยวนั่ง แต่ในฤดูหนาวก็สามารถใช้วิธีการเอาไม้กวาด หรืออุปกรณือื่นๆปัดฝุ่นออกและใช้สายยางฉีดน้ำล้างอีกครั้ง โดยเน้นล้างบนกัวและหลังบริเวณที่ต้องวางแหย่งก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีเศษกรวดทรายชิ้นโตๆเสียดสีกับผิวหนังช้างอยู่ใต้แหย่ง

การแสดงของช้างแสนรู้ - ช่วยกันเฝ้าดูอย่าให้เบื้องหลังเป็นเรื่องเศร้า Elephant Show - Let's make sure they are not being tortured for our fun.




ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่นเดียวกับสุนัข โลมาและ วาฬ ซึ่งล้วนแต่เป็นสัตว์สังคม และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาก อีกทั้งเป็นสัตว์ที่ขี้เล่น โดยเฉพาะตัวที่อายุยังน้อย สัตว์เหล่านี้จึงชอบที่จะอยู่กับคนและเรียนรู้ที่จะทำอะไรๆร่วมกับคน หากคนนั้นมีความเมตตา สั่งสอนและใช้งานพวกเขาอย่างเหมาะสม ช้างก็จะรู้สึกว่าการทำงาน การแสดงต่างๆก็คือการเล่นสนุกสนานและมีความสุขได้เช่นกัน




...คนฝึกช้างสองสามคนมะรุมมะตุ้มฝึกลูกช้างอายุสามปีตัวหนึ่งให้เชื่อฟังคำสั่ง นั่ง นอน ลุกฯลฯ ลูกช้างนั้นมองดูไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร ตามเนื้อตัวก็มีแผลเล็กๆตื้นๆมีรอยยาฆ่าเชื้อโรคสีม่วงๆพ่นไว้เต็มไปหมด ช้างน้อยคงโดนขอและมีดสะกิดอยู่บ่อยๆระหว่างฝึกเชื่อฟังคำสั่งนี้ ควาญสั่ง“นั่งลง”พร้อมกับเอาขอกดที่กลางหลังของช้างน้อย ช้างย่อขาลงและลดตัวลงนั่ง ก้นยังไม่ทันสัมผัสพื้นดี ควาญคนเดิมก็เอาขอกดที่ข้างขาหน้าพร้อมกับพูดว่า “ลุกๆ” ช้างน้อยก็รีบลุก ควาญก็สั่งให้นั่งอีก ทำอย่างนี้อยู่สองสามครั้ง ลูกช้างนั้นส่งเสียงร้องเหมือนเด็กร้องไห้ตัดพ้อ ถ้ามันพูดได้คงจะพูดว่า “จะเอายังไงกันนี่?” ลูกช้างที่น่าสงสารคงทั้งเจ็บทั้งกลัวและต้องการทำตามคำสั่งแต่ก็ไม่เข้าใจว่าคนต้องการสั่งอะไรแน่ การสั่งและเปลี่ยนคำสั่งอย่างรวดเร็วน่าจะทำให้ช้างน้อยสับสนและคิดว่าตนทำไม่ถูกต้องจึงโดนทำโทษ การฝึกสัตว์ควรจะกระทำด้วยความเมตตา มีการพูดจาให้รางวัลเมื่อเขาทำได้ถูกต้อง เพื่อเขาจะได้ทราบว่าสิ่งใดทำถูกแล้วดีแล้ว วันหน้าจะได้ทำอีก สิ่งใดไม่ถูกไม่ดีก็ไม่ให้รางวัลหรือทำโทษเล็กๆน้อยสมควรแก่การกระทำนั้น สัตว์ก็จะเรียนรู้ได้เร็วและไม่บอบช้ำโดยไม่จำเป็น

ในระหว่างการแสดงต่างๆก็เช่นกัน ควาญหลายคนสั่งช้างโดยใช้วิธีที่ทารุณ เช่นใช้ขอสับหรือจิกแรงๆเพื่อให้ช้างทำตามคำสั่งอย่างรวดเร็ว เช่นให้เต้นส่ายหัวส่ายงวง ให้วิ่งเตะฟุตบอล วิ่งกลับตัวอย่างรวดเร็วเช่นวิ่งแข่ง วิ่งในเกมส์โปโล (ซึ่งขัดกับธรรมชาติที่เชื่องช้าอุ้ยอ้ายของช้างส่วนใหญ่) ควาญบางคนถือตะปูเล็กๆไว้ในมือแทนขอสับเพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยงสังเกตเห็น ในฐานะผู้ชมเราสามารถสังเกตได้ด้วยตนเองว่าช้างที่กำลังแสดงนั้นแสดงอย่างมีความสุขหรือไม่ หรือกำลังถูกทารุณ ผู้ชมสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างนักแสดงทั้งหลายถูกกระทำทารุณ เพราะควาญช้างต้องอาศัยรายได้จากผู้ชม หากผู้ชมไม่ชื่นชอบกับการกระทำของควาญและเรียกร้องให้มีการแก้ไข ควาญช้างหรือผู้ประกอบการก็ย่อมต้องตอบสนอง

ช้างหนังหนามาก โดนแค่นี้ไม่เจ็บหรอก - จริงหรือ? "Elephants have very thick skin, they don't feel pain easily" Really?

เรามักได้ยินคนพูดกันว่า “ช้างนั้นหนังหนามาก มันไม่เจ็บหรอก..” ช้างมีผิวหนังหนามากเมื่อเทียบกับหนังของมนุษย์ แต่การมีผิวหนังที่หนาของช้างไม่ได้ลดความ “ไวต่อความรู้สึก” บนผิวหนังของช้างเลย! ช้างรู้สึกได้ทันทีเมื่อแมลงเล็กๆมาเกาะ กัดหรือต่อยที่ผิวหนังส่วนใดก็ตาม ความเป็นสัตว์ที่มีร่างกายใหญ่โตอาจทำให้ช้างอดทนต่อความเจ็บปวดได้มาก ช้างรู้สึกได้ชัดเจนเมื่อโดนกิ่งไม้ หนามแหลมคมที่ครูดไปตามผิว แต่ความเจ็บระดับนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อการหากินตามธรรมชาติของช้างแต่อย่างใด (เช่นเดียวกับชาวนาชาวไร่ที่โดนกิ่งไม้ใบหญ้าบาดในยามทำงานนั่นเอง) แต่การตี การฟัน หรือกดจิกตามผิวหนังด้วยของมีคมหรือปลายแหลม ทำให้ช้างเจ็บแน่นอน การคิดว่าช้างไม่รู้สึกเจ็บเพราะหนังหนาเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง

การใช้มีด และขอสับของคนเลี้ยงช้าง - ควาญช้าง เป็นเรื่องปกติหรือไม่? Is it necessary to use knifes and hooks on elephants?

บางคนไม่ได้ตั้งใจที่จะทำร้ายช้าง แต่เพราะขาดความรอบคอบก็ทำร้ายเขาไปโดยไม่เจตนา เช่นมีควาญคนหนึ่ง แทบทุกครั้งต้องการจะสั่งให้ช้างทำอะไรก็มักเอาสันมีดฟันหรือเคาะแรงๆที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของช้างเช่นต้นขา งวง หรือเท้าตามแต่จะเหมาะหรือสะดวก (ปกติควาญช้างทุกคนจะพกมีดและขอสับเป็นเครื่องใช้ประจำตัว) วันนั้นแกนั่งอยู่กับพื้น แกต้องการสั่งให้ช้างถอยหลัง ก็คว้าเอามีดไปเคาะฉับๆเข้าให้ที่เท้าหลังเหนือเล็บของช้างโดยเข้าใจว่ากำลังใช้สันมีดพร้อมกับบอก “ถอยๆ” แต่โชคร้ายของช้างและความสับเพร่าของควาญ แกใช้ด้านคมซึ่งคมมากแทนด้านสันของมีด ปรากฎว่าเท้าช้างเป็นแผลลึกลงไปประมาณสองนิ้วเห็นจะได้ และกว้างเกือบเท่าความยาวใบมีด เลือดทะลักพรั่งพรูออกมา เท้าเป็นส่วนที่สัมผัสกับพื้นตลอดเวลา โดนฝุ่นดิน น้ำ โคลนฯลฯ แผลเกิดอักเสบ มีหนอนแมลงวันเข้าไปไข่ ช้างตัวนั้นได้รับความเจ็บปวดทรมานตามมาอีกหลายเดือน ช้างก็ไม่ได้มีอาการโกรธแค้น หรือทำร้ายตอบควาญแต่อย่างไร คงก้มหน้ารับความเจ็บปวดไปอย่างน่าสงสาร...

มีดเป็นอุปกรณ์คู่กายของชาวบ้าน มีประโยชน์มากและใช้งานได้หลายอย่างในชีวิตประจำวันและใช้ป้องกันตัว เวลาช้างเกิดดุร้ายผิดปกติและจะทำร้ายควาญ ส่วนขอสับเป็นของคู่กายควาญช้าง ควาญใช้ขอสำหรับกดเบาๆตามส่วนต่างๆของช้าง คล้ายๆกับคาวบอยตะวันตกใช้ส้นรองเท้าที่มีโลหะแหลมๆติดอยู่เพื่อสะกิดบอกให้สัตว์รู้ว่าเราต้องการให้เขาหันซ้ายหันขวา เดินหน้าถอยหลัง หรือหยุด ควบคู่ไปกับภาษากายเช่นการขย่มตัวไปข้างหน้าขณะที่อยู่บนคอช้าง บอกให้ช้างรู้ว่าให้ออกเดินไปข้างหน้า การใช้ปลายเท้าเตะเบาๆที่ด้านหลังใบหู สะกิดเตะที่หลังหูซ้ายพร้อมเอี้ยวตัวไปทางขวาหมายถึงให้ช้างเลี้ยวไปทางขวา เป็นต้น
ควาญช้างใช้ขอสำหรับควบคุมช้างและบางครั้งการสับหรือกดลงแรงกว่าปกติก็เป็นการย้ำคำสั่งหรือลงโทษที่ช้างไม่ทำตามคำสั่งในทันที แต่ขอสับนี้ไม่ควรถูกใช้พร่ำเพรื่อ เช่นเดียวกับการลงโทษช้างก็ไม่ควรพร่ำเพรื่อ ควาญที่มีความเมตตาและรักช้างที่ตนเลี้ยงจะสั่งสอนช้างอย่างมีเมตตาและผลที่ได้คือช้างที่เชื่อฟัง นิสัยดี ไม่ก้าวร้าวและควาญประเภทนี้จะลงโทษช้างน้อยมาก ขณะที่ควาญช้างบางคนไม่มีความเมตตาต่อช้าง ห่วงแต่ประโยชน์ของตน ใช้ช้างทำทุกอย่างที่จะให้ตนได้ประโยชน์โดยไม่คำนึงว่าช้างจะเหนื่อย จะหิวกระหาย จะเจ็บตรงไหน อย่างไร ควาญประเภทนี้มักเอาแต่ใจ ดุและทำร้ายช้างของตนอน่างรุนแรงและบ่อยๆ ช้างเหล่านี้ก็มักจะเป็นช้างที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมเช่นก้าวร้าว ดุร้าย ทำร้ายคนหรือช้างอื่น ตามเนื้อตัวก็มักจะมีบาดแผลเก่าและใหม่อยู่มากมาย

เคยพบควาญคนหนึ่ง อายุห้าสิบกว่าปีแล้ว เป็นคนอารมณ์ดี มีเมตตา พูดกับช้างเสียงดังฟังชัดแต่ไม่กระโชกโฮกฮาก แกเรียกช้างของแกว่า “แม่วัน” (ช้างชื่อทานตะวัน) แทบทุกครั้ง ติดตามแกอยู่หลายวัน แทบไม่เคยได้ยินแกขึ้นเสียงด้วยความดุร้ายหยาบคายกับช้างเลย แทบไม่เคยทำโทษช้างสักครั้ง และไม่เห็นแกใช้ขอสับเลยสักครั้งตลอดระยะเวลากว่าสองสามสัปดาห์นั้น แถมบางช่วงไม่มีอะไรทำ แกก็นั่งลงคว้าหีบเพลงขึ้นมาเป่า สลับกับร้องเพลงอยู่ข้างๆช้างของแกนั่นเอง ช้างก็เลยได้อานิสงค์ได้ฟังเพลงไปด้วย “แม่วัน”ตัวนี้ก็ช่างเป็นช้างชนิดที่เรียกได้ว่า “ช้างในอุดมคติ” เลยทีเดียว รูปร่างสูง ส่วนหัวได้รูปสวย ขนาดกำลังดีไม่อ้วนไม่ผอมไป ผิวพรรณก็สวยงาม ไม่มีบาดแผล นอกจากบางครั้ง ขีดข่วนเล็กๆเวลาเดินเข้าป่าไปโดนกิ่งไม้บ้าง เป็นช้างอารมณ์ดีชวนให้เข้าใกล้ คุณลุงควาญของแม่วันก็เป็น “ควาญช้างในอุดมคติ” เช่นกัน
เรามักได้ยินคนพูดกันว่า “ช้างนั้นหนังหนามาก มันไม่เจ็บหรอก..” ช้างมีผิวหนังหนามากเมื่อเทียบกับหนังของมนุษย์ แต่การมีผิวหนังที่หนาของช้างไม่ได้ลดความ “ไวต่อความรู้สึก” บนผิวหนังของช้างเลย! ช้างรู้สึกได้ทันทีเมื่อแมลงเล็กๆกัดหรือต่อยที่ผิวหนังส่วนใดก็ตาม ความเป็นสัตว์ที่มีร่างกายใหญ่โตทำให้ช้างอดทนต่อความเจ็บปวดได้มากกว่าสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่า เช่นกิ่งไม้ หนามแหลมคมที่ครูดไปตามผิวของช้างอาจไม่ทำให้ช้างรู้สึกเจ็บจนเป็นอุปสรรคต่อการหากินตามธรรมชาติ แต่การตี การฟัน หรือกดจิกตามผิวหนังด้วยของมีคมหรือปลายแหลม ทำให้ช้างเจ็บแน่นอน การคิดว่าช้างไม่รู้สึกเจ็บเพราะหนังหนาเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง

Tuesday, May 26, 2009

ชีวิตของช้างอยู่ในมือของเรา Their destinies are in our hands - Show some mercy!





“..... ชีวิตของช้างอยู่ในมือของเรา เราคือผู้บันดาลความสุขหรือทุกข์ เรากำหนดชะตาชีวิตของเขา”
คนจึงควรมีเมตตา และใช้ความคิดและวิจารณญาน และความรอบคอบในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพวกเขาก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะเราคือผู้ที่ตัดสินใจแทนเขา เราสั่ง เขาต้องทำตาม เขาก็มีสมองและอาจคิดได้ดีกว่าเราในหลายกรณีที่เกี่ยวกับตัวเขา แต่กลับแทบไม่มีโอกาสคิดและตัดสินใจเพราะเราเป็นนายและเป็นผู้สั่งตลอด ถ้าเขาไม่ทำตามก็อาจถูกลงโทษ ดังนั้นเราตัดสินใจผิด/สั่งผิดไม่ได้เลย บางครั้งการตัดสินใจที่ผิดพลาดหรือไม่รอบคอบของเรา (ไม่ว่าด้วยความไม่รู้จริง ประมาท หรือมักง่าย) อาจหมายถึงความทุกข์ทรมาน การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของพวกเขา...

Thursday, May 21, 2009

เรื่องของขี้ช้าง หรือมูลช้าง - Elephant Dung - What does it tell?










ขี้ช้างหรือมูลช้างเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งเมื่อไปเราดูช้าง ช้างเป็นมังสวิรัตร้อยเปอร์เซ็นคือกินแต่พืชล้วนๆ มูลช้างจึงมีหน้าตาเหมือนเส้นใยพืชสารพัดชนิดที่ถูกบดย่อยอย่างละเอียดแล้ว เกาะติดกันเป็นก้อนเกือบกลม มูลช้างบอกอะไรๆให้เราได้ทราบหลายอย่างเช่น บอกขนาดและวัยของช้างอย่างกว้างๆ ช้างตัวโตมูลก็ก้อนโต ลูกช้างเล็กๆหรือช้างอายุน้อยมูลก้อนเล็กกว่าและประกอบด้วยเส้นใยที่ละเอียดมากกว่า ขณะที่ช้างอายุมากประสิทธิภาพการย่อยอาหารจะเริ่มลดลงมูลจึงหยาบกว่า ช้างแก่ๆมูลจะหยาบมาก มูลเก่ามูลใหม่มีสีต่างกัน บอกให้รู้ว่าช้างถ่ายผ่านไปนานเท่าใดแล้ว ในมูลยังอาจมีสิ่งแปลกปลอมอื่นๆปะปนมาซึ่งสัตวแพทย์จะตรวจและสามารถตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของช้างได้












ในธรรมชาติมูลช้างยังมีประโยชน์มหาศาลต่อระบบนิเวศน์คือ ช่วยนำเมล็ดพืชนานาชนิดที่กินเข้าไป ไปงอกยังที่ต่างๆเพื่อเติบโตเป็นป่า เป็นอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆในที่สุด มูลช้างยังเป็นอาหารและที่อยู่อาศัยของแมลงนานาชนิดอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งแมลงเหล่านี้ก็กลายเป็นอาหารของสัตว์กินแมลงอีกมากมายหลายประเภท

Tuesday, May 19, 2009

นั่งช้างเดินเล่น ทรมานช้างหรือเปล่านะ? Elephant Ride - How do we know if they're OK? When to do, when not to do?


แหย่งคือที่นั่งสำหรับวางบนหลังช้างกว้างพอสำหรับนั่งได้สองคน เพื่อให้นักท่องเที่ยวนั่งให้ช้างพาเดินเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในอดีตมักทำด้วยไม้และอาจถักเสริมด้านข้างด้วยหวายหรือไม้ไผ่ดัดโค้ง แต่ปัจจุบัน มีการนำช้างมาหากินในเมืองต่างๆเป็นจำนวนมาก จึงมีการใช้เหล็กทำแหย่งกันมากขึ้น เนื่องจากสะดวกและหาง่าย ราคาถูก


ก่อนติดตั้งแหย่งบนหลังช้างนั้น ต้องมีการล้างทำความสะอาดช้าง เอาเศษใบไม้กิ่งไม่ฝุ่นผงต่างๆออกให้เกลี้ยง เพื่อไม่ให้บาดหลังช้างเป็นแผล จากนั้นปูรองด้วยเปลือกไม้ชนิดหนึ่งที่ทุบให้ฟู (ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “หนัง”) มีความยืดหยุ่นสูง ถ่ายเทอากาศได้ดี ซึ่งจะช่วยให้หลังช้างไม่ร้อนเท่ากับใช้วัสดุอื่น ถ้าเป็นในเมืองมักจะใช้กระสอบข้าวเก่าๆ หรือผ้าห่มสักหลาดเก่าๆแทน วัสดุทั้งสองอย่างนี้ ระบายอากาศและความร้อนได้ไม่ดี (แต่เปลือกไม้นั้นหายาก จะพบเห็นใช้กันตามปางช้างที่อยู่ในแหล่งใกล้ป่าธรรมชาติเท่านั้น) จากนั้นจึงนำแหย่งวางบนหลังช้าง และผูกมัดด้วยเชือก ซึ่งเชือกแต่ละชนิดก็มีคุณภาพ คือความคม ความยืดหยุ่นและแข็งแรงแตกต่างกัน เชือกไนล่อนราคาถูกๆ ยิ่งใช้ไปจะยิ่งแข็งกระด้างและคม หากผูกมัดไม่ดีจะยิ่งบาดผิวหนังช้างให้เป็นแผลได้มาก

เราจะสังเกตความเอาใจใส่ของควาญและ/หรือผู้ประกอบการนั้นๆได้ โดยการดูรูปร่างของแหย่งว่าพอดีกับสรีระ ความโค้งบนหลังช้างมากน้อยเพียงใด (แหย่งที่ทำมาไม่ดีเช่นมีส่วนปลายเป็นมุมแหลมกดลงแนวตรง หรือมีความโค้งไม่พอดีกับความโค้งของหลังช้างอาจทิ่มแทงผิวหรือกดน้ำหนักบนกระดูกสันหลังของช้างจนเป็นอันตรายหรือทำให้ช้างบาดเจ็บเรื้อรังได้) วัสดุต่างๆที่ใช้ การผูกมัด กระทำด้วยความละเอียดใส่ใจเพียงใด อีกทั้งสังเกตว่าช้างแต่ตัวไม่ควรถูกให้บรรทุกแหย่งนานเกินไป ควรได้มีโอกาสพักหลังบ้าง


นอกจากนี้ ควาญหรือผู้ประกอบการที่ดีไม่ควรเอาอกเอาใจนักท่องเที่ยวจนละเลยสวัสดิภาพของช้าง เช่นบรรทุกของหรือคนจนน้ำหนักมากเกินกำลังหรือขนาดของช้าง หลังของช้างเป็นจุดที่ละเอียดอ่อน ช้างสามารถลากของน้ำหนักนับพันกิโลกรัมได้โดยผูกมัดสิ่งของนั้นให้เหมาะสม แต่ช้างไม่สามารถบรรทุกน้ำหนักบนหลังได้มากกว่าร้อยถึงสองร้อยกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดของช้าง ผู้ดูแลช้างต้องปฏิเสธที่จะบรรทุกนักท่องเที่ยวหรือของที่น้ำหนักมากเกินไป นักท่องเที่ยวก็ไม่ควรเรียกร้องต้องการขึ้นนั่งหลายๆคนบนช้างตัวเดียว


ครั้งต่อไปที่เราคิดจะนั่งช้างเที่ยว ช่วยกันสังเกตสักนิดว่า ช้างที่เราจะนั่งนั้น ใส่แหย่ง สภาพไหน หลังเป็นแผลหรือไม่ ตัวเล็กเกินไป แบกแหย่งและบรรทุกคนนานเกินไปแล้วหรือไม่ ต้องเดินนานๆในสภาพอากาศร้อนจัดหรือไม่ ช่วยกันสักนิด ปฏิเสธผู้ให้บริการที่ปฏิบัติต่อช้างอย่างปราศจาคความเมตตา

Friday, May 15, 2009

กล้วยและอ้อยไม่ใช่อาหารหลักของช้าง - Banana and sugarcane are not elephants' natural main diet.

กล้วยและอ้อยไม่ใช่อาหารหลักตามธรรมชาติสำหรับช้าง
อาหารหลักหมายถึงอาหารที่ช้างกินในปริมาณมากที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารชนิดอื่นในธรรมชาติ สำหรับช้างคือหญ้า ใบไม้ กิ่งไม้และเปลือกไม้ต่างๆ ผลไม้อื่นๆเป็นส่วนประกอบที่ช้างหากินได้เป็นครั้งคราวตามพื้นที่ในป่าที่โขลงช้างเดินท่องไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ช้างยังต้องการแร่ธาตุต่างๆซึ่งจะได้จากการกินดินโป่งเช่นเดียวกับสัตว์ป่าอื่นๆ (กล้วยและอ้อยมีน้ำตาลสูง จึงควรให้เป็นครั้งเป็นคราวเหมือนให้ขนมแก่เด็กๆ แต่ช้างเร่ร่อนได้รับอาหารไม่พออยู่แล้ว จึงควรคำนึงถึงปริมาณให้เพียงพอก่อนเรื่องปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับ)

ช้างกินจุและกินแทบตลอดทั้งวัน
(นอกจากเวลาล้มตัวลงนอนวันละประมาณสามชั่วโมง)
ในด้านปริมาณ ช้างที่โตเต็มที่กินอาหารประมาณ๒๐๐-๓๐๐ กิโลกรัมต่อวัน เมื่อคนนำช้างมาเลี้ยง ช้างไม่มีโอกาสหาอาหารตามธรรมชาติ จึงเป็นหน้าที่ของคนที่จะต้องดูแลให้ช้างได้รับอาหารที่เหมาะสมทั้งในด้านความหลากหลาย(สารอาหาร)และปริมาณ ส่วนลูกช้างเล็กๆ ในธรรมชาตินั้นจะกินนมแม่ไปจนอายุถึงสามขวบทีเดียว โดยหลังจากอายุสามสี่เดือนลูกช้างจะเริ่มทดลองกินอาหารอื่นๆตามที่แม่ของมันกิน แต่ยังคงกินนมเป็นหลัก และปริมาณสัดส่วนนมต่ออาหารอื่นๆจะค่อยๆลงเนื่องจากลูกช้างมีขนาดใหญ่ขึ้น นมอย่างเดียวจะไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต การให้อาหารไม่เหมาะสมมีผลต่อสุขภาพร่างกายและฟันของช้างด้วย
พลายบุญมีช้างเร่ร่อนกินแตงโมเป็นพิษเสียชีวิต,
  • พังแสงเดือนเดินตกท่อแถวเดอะมอลล์ท่าพระ เมื่อ 21มกราคม2547,
  • พลายโตโต้ช้างเร่ร่อนดึงเถาวัลย์กินถูกไฟดูดตายแถวบางขุนเทียน เมื่อกรกฎาคม 2547 อายุเพียง4 ปี, (ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
  • ช้างเร่ร่อน น่าสงสาร - ซื้อกล้วยและอ้อยให้ดีไหม? Roaming elephants - Should we feed them?



    ช้างไปเร่ร่อน-ทุกข์ของช้าง สะเทือนใจผู้พบเห็น







    • ช้างเร่ร่อนในเมืองต่างๆไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ ปริมณฑล เชียงใหม่ หรือเมืองอื่นๆนั้นล้วนเสี่ยงต่อการถูกรถชนโดยเฉพาะตั้งแต่เวลาใกล้ค่ำ นอกจากนี้ช้างเร่ร่อนยังได้รับอาหารไม่พอเพียงทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเพราะช้างต้องการอาหารเป็นร้อยๆกิโลกรัมต่อวัน เป็นไปไม่ได้ที่ผู้นำช้างออกเร่ร่อนจะสามารถเตรียมหรือหาอาหารได้พอเพียง ช้างเร่ร่อนไม่มีน้ำสะอาดในปริมาณพอเพียงสำหรับดื่มกิน และอาบเพื่อระบายความร้อนและรักษาความสะอาดของร่างกาย ต้องหายใจเอาฝุ่นควันจากท้องถนน พวกเขาจึงเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยอย่างยิ่ง นอกจากนี้ความเครียดจากสิ่งต่างๆที่พวกเขาต้องผจญอยู่ทุกๆวันในเมืองเหล่านี้บั่นทอนสุขภาพกายและใจ และอาจทำให้เขาหงุดหงิดถึงขั้นอาละวาดหรือตื่นตระหนกวิ่งพล่านซึ่งจะเป็นอันตรายต่อคน และในที่สุดพวกเขาก็จะอาจถูกคนทำร้ายเพื่อหยุดการอาละวาดนั้น
    • กรณีพลายบัวจูมอายุ 30 ปี ถูกรถบรรทุกชนเสียชิวิตบนถนนมิตรภาพ โคราช ปี2508



    • พังฮันนี่ อายุ2ขวบครึ่ง ช้างแสดงเร่ร่อนถูกรถชนขาหักที่จังหวักลำพูนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2536 ทรมานด้วยพิษบาดแผลกว่า 2 เดือนก่อนจะเสียชีวิต, ธีรภาพ โลหิตกุล, คนรักษ์ช้าง (ประพันธ์สาส์น, ตุลาคม 2544)




    • พลายจ็อคกี้ทำร้ายคนเลี้ยงและถูกเจ้าหน้าที่ยิงตาย พศ.2538
    • พังแสงเดือนเดินตกท่อแถวเดอะมอลล์ท่าพระ เมื่อ 21มกราคม2547
    • ประมาณปี 2544 พลายรุ่งเรือง ช้างเร่ร่อนตื่นตกใจวิ่งพล่านกลางถนนอุรุพงษ์ ถูกทีมกู้ภัยสัตวแพทย์จับตัวและส่งกลับสุรินทร์ ปัจจุบันพลายรุ่งเรืองอยู่ในความดูแลของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจังหวัดลำปาง โดยคุณหมอนลินี ไพบูลย์ เจ้าของผู้ขอซื้อพลายรุ่งเรืองเพื่อให้พ้นจากการเป็นช้างเร่ร่อนในคราวนั้น ยังคงเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายเดือนละหลายหมื่นบาท

    • พลายโตโต้ช้างเร่ร่อนดึงเถาวัลย์กินถูกไฟดูดตายแถวบางขุนเทียน เมื่อกรกฎาคม 2547 อายุเพียง4 ปี, (ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
    • กรณีล่าสุด พลายบุญมีอายุเพียง 7 ปีช้างเร่ร่อน ถูกรถชนเสียชีวิตที่ถนนศรีนครินทร์ ย่านลำสาลีเมื่อกลางดึกเวลาประมาณหนึ่งนาฬิกา วันที่16 ตุลาคม 2551 (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 17 ตุลาคม 2551)]
    ช้างเร่ร่อนเป็นเรื่องที่ผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองไม่อยากพบเห็น และเมื่อพบก็อยากจะช่วยช้างนั้นให้พ้นจากสภาพที่ช้างเผชิญอยู่ ในอดีตมีคนไม่น้อยที่พอมีฐานะและได้ควักกระเป๋าซื้อช้างเร่รอนที่ตนไปพบเข้า และหาที่อยู่ใหม่ตามกำลังความสามารถของแต่ละคน แต่ปัจจุบันแม้จะขอซื้อช้างเร่ร่อนนั้นก็ทำได้ยากเสียแล้ว เพราะถ้าคนที่นำมาเร่ร่อนเป็นเจ้าของ ก็จะฉวยโอกาสโก่งราคาจนน่าโมโห การซื้อขายก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ อีกประเภทหนึ่งคือคนนำช้างมาเร่ร่อนไม่ใช่เจ้าของ แต่เช่าเขามา จึงไม่สามารถขายช้างได้ ตามความเห็นของผู้เขียน หากจะช่วยช้างที่ถูกนำมาเร่ร่อน และทำให้เรื่องแบบนี้หมดไป ผู้พบเห็นทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนเดียวต้องพร้อมใจกัน ทำใจแข็งหันหลังให้ช้างนั้นเลย ไม่ยุ่งเกี่ยวไม่ซื้ออาหารจากคนนั้น ไม่ใช้บริการเช่นลอดท้องช้าง ถ่ายรูปกับช้างฯลฯ เพื่อให้การนำช้างมาเร่ร่อนนั้นไม่สามารถสร้างรายได้อีกต่อไป หากเรารู้สึกว่าต้องการช่วยเหลือช้างอย่างยิ่ง ไม่อยากเพิกเฉยต่อมัน ถ้าพอจะทำได้ ก็อาจจะเตรียมอาหารที่ล้างมาอย่างสะอาดมาเอง(ไม่ซื้อจากคนจูงช้าง)เพื่อให้แก่ช้างนั้น ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่จูงช้างเร่ร่อนนั้นยินยอมด้วย มิฉะนั้นอาจกลายเป็นการทะเลาะวิวาทกันไป

    ช้างไม่เหมาะที่จะอยู่ตัวเดียวหรือถูกเลี้ยงเดี่ยวๆ Elephants are not meant to be kept alone, SO, DON'T!

    ครอบครัวจำเป็นอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของช้าง
    ช้างสามารถสื่อสารกันเองได้แม้จะอยู่ห่างกันถึง 8กิโลเมตร ด้วยเสียงคลื่นความถี่ต่ำซึ่งหูของมนุษย์ไม่สามารถได้ยิน ช้างเป็นสัตว์ที่มีความผูกพันธ์และรักครอบครัว (สมาชิกที่อยู่ในโขลงเดียวกัน) มีการช่วยเหลือกันและกันตั้งแต่การคลอดลูก การดูแลลูกที่เพิ่งเกิดเพื่อให้แม่ช้างที่เพิ่งคลอดได้พักผ่อน ปกป้องคุ้มครองกันและกันโดยเฉพาะลูกช้างเล็กๆในโขลงจากอันตรายไม่ว่าสิ่งใดๆ เมื่อช้างไม่พอใจ ต้องการขู่ผู้รุกราน หรือแสดงการปกป้องลูกน้อยหรือฝูงของมัน มันจะส่งเสียงแปร๋นแหลมดังหรือพร้อมกับใช้งวงฟาดกับพื้นจนเกิดเสียงดังน่ากลัวเพื่อเตือนหรือขู่ให้ศัตรูถอยไป ความผูกพันธ์ระหว่างกันนี้มีความจำเป็นในการดำรงเผ่าพันธุ์ของช้างอย่างยิ่ง


    ช้างไม่เหมาะที่จะอยู่ตัวเดียวหรือถูกเลี้ยงเดี่ยวๆ ช้างเป็นสัตว์สังคม
    ในธรรมชาติจะอาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม (โขลง) ตั้งแต่ 10-30เชือก โดยมีช้างตัวเมียที่มีอาวุโสและประสบการสูงเป็นหัวหน้า (เรียกว่าแม่แปรก) และช่วยกันดูแลลูกช้างรุ่นอายุต่างๆกันในโขลง มีการเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์การดำรงชีวิตเรื่องการหาอาหาร แหล่งน้ำ ยารักษาโรค การป้องกันตัวจากสิ่งที่อาจเป็นอันตราย และศัตรูตามธรรมชาติ ฯลฯ ช้างสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอด้วยการดม การสัมผัสและการใช้เสียง ช้างต้องการเพื่อนหรือครอบครัวเช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์สังคมอื่นๆ การที่ช้างถูกขังอยู่ตัวเดียวหรือเลี้ยงดูเดี่ยวๆ ไม่เคยเห็นช้างตัวอื่นเลยในชีวิต จะทำให้มันขาดการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆที่จำเป็นสำหรับชีวิต ไม่มีความสุข และอาจมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ (ช้างเลี้ยงตัวเดียวมักมีปัญหาสุขภาพจิต) หลายๆกรณีที่มีคนนำช้างมาเลี้ยงเพียงตัวเดียว และใกล้ชิดราวกับเป็นลูกคน และให้อาหารแปลกๆเช่นไอสครีม ขนม ของหวาน และอาหารอื่นๆของคน และเห็นว่าน่าเอ็นดูที่ลูกช้างกินอาหารแปลกๆนั้นได้ การทำเช่นนี้มีผลเสียต่อช้างอย่างยิ่ง ช้างเหล่านี้มักตายตั้งแต่ยังอายุยังน้อย ไม่เคยมีใครลงมือชันสูตรว่าเขาตายเพราะอะไร แต่สันนิษฐานว่าการขาดภูมิคุ้มกันโรคเพราะขาดสารอาหาร การเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมทำให้เจ็บป่วยง่ายและรุนแรง หรือเมื่ออยู่รอดจนโตก็มักมีปัญหาในการควบคุมให้ปลอดภัยต่อคนรอบข้างและในที่สุดช้างนั้นมักถูกทำลาย เช่นถ้าเป็นตัวผู้ก็มักถูกทำร้ายหรือฆ่าตายเมื่อตกมันและอาละวาด ทั้งๆที่การตกมันเป็นธรรมชาติของช้างหนุ่มที่แสดงถึงความสมบูรณ์ของร่างกาย และมีวิธีการจัดการและดูแลป้องกันอย่างเหมาะสมที่จะไม่เกิดอันตรายต่อผู้ใด

    กรณีตัวอย่างการนำลูกช้างมาเลี้ยงตัวเดียวลำพัง ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม
    • พลายมงคลช้างขวัญของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ในอดีตสมัยรัชกาลที่ห้า ซึ่งถูกเลี้ยงตัวเดียว ใกล้ชิดสนิทสนมกับคนในบ้านเมื่อเป็นลูกช้างเล็กๆ แต่เมื่อโตขึ้นจนถึงวัยตกมันและถูกแหย่ถูกล้อตามปกติก็ทำร้ายคนรวมทั้งคนเลี้ยง จึงต้องถูกกักขัง ล่ามโซ่ ในที่สุดถูกส่งไปอยู่ในชนบทและเสียชีวิตเพราะพลัดตกจากตลิ่งสูงชันเนื่องจากหยั่งน้ำหนักตนเองไม่ถูก ในการเดินบนพื้นที่ภูมิประเทศที่แตกต่างไป “...เจ้าพลายถูกจับไปจองจำในซองแคบๆ ที่สุดท่านเจ้าพระยาเทเวศรฯก็จำใจส่งพลายมงคลคืนไปยังพระเจ้าเชียงใหม่....เพราะเห็นว่าไม่สามารถให้ความสุขแก่พลายมงคลได้และการเลี้ยงช้างอย่างเลี้ยงสัตว์เล็กๆหรือ(เลี้ยง)เกือบจะเหมือนมนุษย์นั้นได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นความหลงไหลผิดพลาด”, ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ, เรื่องของช้างพลายมงคลผู้อาภัพ (ศึกษาภัณฑ์พาณิช)

    • กรณีพลายมงคล ช้างของขวัญของนักธุรกิจครอบครัวหนึ่งถูกเลี้ยงตัวเดียวในบ้านชานกรุงเทพฯ มีคนเล่นใกล้ชิดเมื่อยังเล็ก เมื่อโตขึ้นเพื่อนเล่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่แยกย้ายห่างไป ที่ดินรอบข้างกลายเป็นโรงงาน ช้างจึงไม่มีที่เดิน ที่เล่นและเพื่อนๆที่เคยใกล้ชิดอีกต่อไป ช้างจึงถูกล่ามโซ่ตลอด24ชั่วโมงจนกลายเป็นช้างดุร้ายอารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย กลัวช้างด้วยกันเพราะไม่เคยเห็นช้างอื่นมาก่อน ในที่สุดถูกยกให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไปเลี้ยงดูปรับพฤติกรรมและจิตใจ ธีรภาพ โลหิตกุล, คนรักษ์ช้าง,(ประพันธ์สาส์น, ตุลาคม 2544)

    กรณีพลายเพชร –ถูกเลี้ยงตัวเดียวตั้งแต่เล็กทำนองเดียวกันกับพลายมงคล ในวัดแห่งหนึ่ง เมื่อโตขึ้นโดนล่ามโซ่เกือบตลอดเวลาจนเท้าเป็นแผลจากโซ่และจากพื้นที่อยู่อาศัยแฉะสกปรกจากมูลและปัสสาวะของช้างเอง สุดท้ายพลายเพชรถูกเจ้าหน้าที่รุมยิงเสียชีวิตเมื่อตกใจวิ่งไปในที่ชุมชนเมื่อ 29ธันวาคม2539 อายุ29 ปี Ping Amranand and William Warren, The Elephant in Thai life & Legend, (Monsoon Editions Ltd. Partnership, 1999)]

    ลูกช้างอายุต่ำกว่า1ปี เลี้ยงให้รอดโดยมนุษย์ยากมากๆ - To rear a baby elephant is risking its life, so, let the mother do it unless absolutely neccessar



    ลูกช้างที่อายุต่ำกว่าหนึ่งปีจะเลี้ยงให้รอดโดยมนุษย์นั้นยากมาก
    โดยเฉพาะมนุษย์ที่ตั้งใจพรากมันมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนย่อมไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของลูกช้าง แม้ผู้ที่ต้องการเลี้ยงเพราะรักและสงสาร หากขาดความเข้าใจในธรรมชาติ และการดำรงชีวิตของช้างและเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสมก็อาจกลายเป็นการทำร้ายหรือทรมานสัตว์ไปโดยไม่ตั้งใจ (เช่นให้อาหารไม่เหมาะสมทั้งในแง่ปริมาณและชนิด ให้ความใกล้ชิดดูแลตอนเป็นลูกช้างเล็กๆมากมายแต่ทอดทิ้งห่างจากเขาเมื่อร่างกายใหญ่โตขึ้น ล่ามโซ่ทิ้งไว้เป็นเวลานานๆจนเกิดความเครียด ซึมเศร้าหรือดุร้าย ขาดการฝึกสอนที่เหมาะสมทำให้กลายเป็นช้างก้าวร้าวดุร้าย ตื่นตกใจง่าย ควบคุมยาก ซึ่งอาจทำให้ช้างต้องถูกทำลายเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้และอาจเป็ฯอันตรายต่อคน) การเลี้ยงช้างโดยขาดความเข้าใจในธรรมชาติของมันอาจกลายเป็นการทารุณสัตว์ที่รุนแรงถึงขั้นชีวิตของช้างก็ได้!!!
    ลูกช้างเล็กๆ มาจากไหน?
    ลูกช้างเล็กๆมีอากัปกริยาน่ารัก ร่าเริงและขี้เล่น จึงมักเป็นที่ต้องการ และถูกขอซื้อตั้งแต่อายุต่ำกว่าหนึ่งขวบด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น

    - บางคนรู้สึกสงสารเห็นลูกช้างไม่มีแม่ (ลูกช้างที่ถูกนำมาเร่ร่อน) จึงซื้อเพื่อจะนำไปเลี้ยงดู ให้พ้นสภาพเร่ร่อน

    - บางคนซื้อลูกช้างจากเจ้าของแม่ช้างเพื่อนำไปเร่ร่อนหารายได้เพราะสามารถใช้ลูกช้างเรียกร้องความสนใจและขายอาหารให้คนซื้อให้ลูกช้างได้ง่าย

    - บางคนก็มีอาชีพนำฝึกช้างให้ทำท่าทางต่างๆตามคำสั่งและนำช้างเร่ไปแสดงตามจังหวัดต่างๆ พวกเร่แสดงช้างกลุ่มนี้จะควบคุมปริมาณอาหารที่ให้ช้างกินเพื่อควบคุมให้ลูกช้างมีขนาดเล็ก น้ำหนักน้อย ให้ดูเป็นลูกช้างน้อยน่ารักไปนานๆและเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับและปรับบนทางหลวงเพราะบรรทุกน้ำหนักเกิน เมื่อลูกช้างนักแสดงของพวกเขาตัวโตเกินไปก็จะขายไปเสียและหาลูกช้างรุ่นใหม่มาฝึกเพื่อทดแทน)

    - ผู้ประกอบการบางรายซื้อลูกช้างไปเพื่อดึงดูดแขกหรือลูกค้าให้มาสถานที่ของตน เช่นรีสอร์ท ร้านอาหาร โรงแรม


    ลูกช้างยังคงต้องการนมแม่เป็นอาหารหลักไปจนอายุสองปีเป็นอย่างน้อย การพรากลูกช้างป่า(ต้องฆ่าแม่ช้างป่าและอาจรวมถึงช้างตัวอื่นๆในโขลงจึงจะนำลูกมาได้) หรือลูกช้างบ้านมาตั้งแต่เยาว์วัยมีผลเสียต่อลูกช้างอย่างมาก เช่น ลูกช้างจะขาดสารอาหารตั้งแต่ขั้นน้อยๆจนถึงขั้นรุนแรง (แล้วแต่ว่าถูกพรากเมื่ออายุเท่าใด) ซึ่งอาจมีผลในระยะยาวคือกระดูกเปราะ ตัวแคระแกรน เจ็บป่วยง่าย ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงสภาพจิตใจของทั้งแม่และลูกที่อาจเศร้าซึมหรือเสียใจอย่างรุนแรงเมื่อต้องแยกจากกัน สายสัมพันธ์ของช้างแม่ลูกไม่ขาดหรือลืมกันง่ายๆเช่นที่เราอาจพบเห็นในสัตว์อื่นๆเช่นสุนัขหรือแมว ช้างในโขลงมีความเป็นครอบครัวรักใคร่สนิทสนมกันไปจนโตจนตายจากกันหากไม่ถูกแยกโดยมนุษย์เสียก่อน ในแง่สังคมลูกช้างจะขาดโอกาสในการเรียนรู้เรื่องสำคัญๆในการดำรงชีวิตจากการอยู่ร่วมกับแม่ (และช้างตัวอื่นๆในกลุ่ม) ลูกช้างที่อาศัยอยู่กับแม่จะค่อยๆเรียนรู้การเลือกและหาอาหารและเริ่มกินอาหารต่างๆนอกจากนมแม่ โดยเริ่มจากสิ่งที่แม่กิน ภายในสองเดือนหลังจากเกิด ลูกช้างจะเริ่มใช้งวงหยิบอุจจาระที่สดและใหม่ๆของแม่กิน เนื่องจากระบบย่อยอาหารของช้างอาศัยจุลินทรีย์ที่มีอยู่มากมายในลำไส้เป็นตัวย่อยอาหาร ลูกช้างเริ่มต้นรับจุลินทรีย์เหล่านี้จากการกินอุจจาระสดของแม่

    ลูกช้างส่วนมากถูกพรากจากแม่เร็วเกินไป Most baby elephants are parted frm their mothers way too soon!














    ลูกช้างส่วนมากถูกพรากจากแม่เร็วเกินไป

    ลูกช้างมีอากัปกริยาน่ารัก จึงมักเป็นที่ต้องการ และถูกซื้อขายกันตั้งแต่อายุต่ำกว่าหนึ่งขวบด้วยเหตุผลต่างๆเช่น บางคนรักและสงสารเห็นลูกช้างไม่มีแม่จึงซื้อเพื่อช่วยเหลือและนำไปเลี้ยงดู บางคนต้องการนำไปเร่ร่อนหารายได้เพราะสามารถใช้ลูกช้างเรียกร้องความสนใจและขายอาหารช้างให้คนซื้อได้ง่าย (เรื่องจริงที่น่าเศร้าอย่างหนึ่งคือผู้ประกอบอาชีพหากินโดยนำช้างเร่ร่อนไปแสดงตามที่ต่างๆควบคุมอาหารที่ให้ช้างเพื่อให้ลูกช้างมีขนาดเล็กแกรน น้ำหนักน้อย เพื่อให้ดูเป็นลูกช้างน้อยน่ารักไปนานๆและเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปรับบนทางหลวงเพราะบรรทุกน้ำหนักเกิน เมื่อลูกช้างนักแสดงของพวกเขาตัวโตเกินไปก็เป็นภาระที่ต้องหาลูกช้างรุ่นใหม่มาทดแทน) ผู้ประกอบการบางรายซื้อลูกช้างไปเพื่อดึงดูดแขกหรือลูกค้าให้มาสถานที่ของตน อย่างไรก็ตาม ลูกช้างยังคงต้องการนมแม่เป็นอาหารหลักไปจนอายุสองปีเป็นอย่างน้อย การพรากลูกช้างป่า(ต้องฆ่าแม่ช้างป่าจึงจะนำลูกมาได้) หรือลูกช้างบ้านมาตั้งแต่เยาว์วัยมีผลเสียต่อลูกช้างอย่างมาก เช่น ลูกช้างจะขาดสารอาหารตั้งแต่ขั้นน้อยๆจนถึงขั้นรุนแรง (แล้วแต่ว่าถูกพรากเมื่ออายุเท่าใด) ซึ่งอาจมีผลในระยะยาวคือกระดูกเปราะ ตัวแคระแกรน ป่วยง่าย ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงสภาพจิตใจของทั้งแม่และลูกที่อาจเศร้าซึมหรือเสียใจอย่างรุนแรงเมื่อต้องจากกัน สายสัมพันธ์ของช้างแม่ลูกไม่ขาด หรือลืมกันง่ายๆเช่นที่เราอาจพบเห็นในสัตว์อื่นๆเช่นสุนัขหรือแมว ช้างในโขลงหรือครอบครัวรักใคร่สนิทสนมกันไปจนโตจนกว่าจะตายจากกันหากไม่ถูกแยกโดยมนุษย์เสียก่อน
    ในแง่สังคมลูกช้างจะขาดโอกาสในการเรียนรู้ความชำนาญต่างๆในการดำรงชีวิตจากการอยู่ร่วมกับแม่ และช้างตัวอื่นๆในโขลง ลูกช้างที่อาศัยอยู่กับแม่จะค่อยๆเรียนรู้การเลือกและหาอาหารและเริ่มกินอาหารต่างๆนอกจากนมแม่ โดยเริ่มจากสิ่งที่แม่กิน ภายในสองเดือนหลังจากเกิดลูกช้างจะเริ่มใช้งวงหยิบอุจจาระที่สดและใหม่ๆของแม่กิน เนื่องจากระบบย่อยอาหารของช้างอาศัยจุลินทรีย์ที่มีอยู่มากมายในลำไส้เป็นตัวย่อยอาหาร ลูกช้างได้รับจุลินทรีย์เหล่านี้ส่วนหนึ่งจากการกินอุจจาระสดของแม่

    ฤาสายพันธุ์ช้างไทยจะอ่อนแอลงเรื่อย? Will inbreeding in captivity weaken the elephant breed?















    ช้างบ้านถูกซื้อขาย พลัดพรากจากครอบครัวและเพื่อนๆ ถูกแยกย้ายไปอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เป็นกลุ่มย่อยๆ อย่างกระจัดกระจาย
    การเคลื่อนย้ายช้างเพื่อให้มีการผสมพันธุ์ข้ามกลุ่มเป็นเรื่องยากลำบากจึงไม่มีใครทำ เจ้าของบางรายมีช้างตัวเดียวเช่นพวกชาวบ้านชาวป่าที่ใช้ช้างรับจ้างทำงาน เร่ร่อนขายกล้วยอ้อยหาเงิน รับนักท่องเที่ยวขี่ช้างฯลฯ บางรายเช่นโรงแรมหรือรีสอร์ทมี 1-2 ตัวเพื่อให้แขกของโรงแรมได้ชมช้าง บางรายเร่หาที่แสดงตามลานที่ว่างต่างๆในต่างจังหวัด บางรายเป็นปางช้างหรือแคมป์ช้างจะมีมากหน่อยตั้งแต่ 20-30ตัวหรือมากกว่านี้ การอยู่กระจัดกระจายเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงสายพันธุ์ที่แข็งแรงของช้าง เพราะไม่สามารถคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติซึ่งตัวที่แข็งแรงเท่านั้นจะได้ผสมพันธุ์และมีการผสมพันธุ์ข้ามกลุ่มอยู่เสมอเพราะช้างในป่าเดินทางท่องไปทั่วป่าตลอดเวลา ซึ่งช่วยป้องกันปัญหาลูกช้างอ่อนแอเนื่องจากการผสมพันธุ์ระหว่างช้างที่มีสายเลือดใกล้ชิดกัน

    งาช้าง - ฆ่าช้างเอางา Ivory cut wound causes long lasting pain or death. What can we do to help?


    pictures from Elephant Eye Witness - DK Publishing
    ช้างเอเชียกับงาช้าง

    ช้างเอเชียตัวเมียไม่มีงา และช้างตัวผู้บางตัวก็ไม่มีงาโดยธรรมชาติ (ซึ่งเราเรียกว่าช้างสีดอ) ในอดีตช้างตัวผู้ที่มีงาถูกล่าไปเป็นจำนวนมากเพื่อเอางา ทำให้ช้างตัวผู้ที่มีงาเหลือน้อยลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ช้างบ้าน(ช้างที่อยู่ในความครอบครองของมนุษย์) ตัวผู้บางตัวก็ไม่สมบูรณ์พอ ไม่สามารถเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีได้ หากช้างงายังถูกล่าไปเรื่อยๆ เพราะยังมีคนต้องการซื้องาหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ในอนาคตเราอาจไม่เห็นช้างมีงาอีกก็ได้

    งาช้าง เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับช้าง ใช้ขุดอาหาร ใช้งัดและช่วยยกอาหารหรือของอื่นๆที่ช้างต้องการยกขึ้น โดยใช้ร่วมกับงวงก็ได้ ใช้เป็นที่เหน็บอาหาร(ระหว่างงวงกับงา)เช่นต้นไม้หรือท่อนไม้ที่ช้างถือติดมาเพื่อนำไปกินต่อไป ช้างบางตัวสามารถใช้งาได้อย่างน่าทึ่ง ในการยกครั้งหนึ่งๆ สามารถยกหญ้าหรือพืชอื่นขึ้นมาได้นับร้อยกิโลกรัมเพื่อถือนำไปกินต่อที่อื่น ในธรรมชาติช้างตัวผู้ยังใช้งาเป็นอาวุธต่อสู้กับช้างตัวผู้อื่นหรือสัตว์อื่นๆเพื่อป้องกันตัวอีกด้วย

    ลอบตัดงา คือฆ่าช้างให้ตายช้าๆ...


    ในอดีตช้างป่าถูกล่าเพื่อเอางา ช้างเลี้ยงที่มีงาก็มักถูกลักลอบตัดงา เมื่อเจ้าของหรือคนเลี้ยงช้างต้องเอาช้างไปผูกไว้ไกลตัว บริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่หรือแห่ลงอาหารสำหรับช้าง พวกขโมยมักใช้วิธีให้ช้างกินยาให้ซึมหรือใช้ไฟฟ้าช๊อตแล้วตัดงา โดยตัดให้ชิดโคนงามากที่สุดเพื่อให้ได้งายาวที่สุด ช้างที่ถูกขโมยตัดงาเหล่านี้จะเกิดการติดเชื้อที่บาดแผลและลุกลามเข้าไปในโพรงงาต่อเนื่องเข้าไปภายในเหมือนโพรงประสาทฟันของคน ซึ่งการรักษาจะซับซ้อนและใช้เวลาเป็นปีหรืออาจทำให้ช้างเสียชีวิตได้ และการลักลอบขโมยตัดงาช้างบ้านในลักษณะนี้พวกคนร้ายจะไล่ต้อนจนช้างตกใจกลัวอย่างรนรานและพยายามวิ่งหนีอย่างน่าเวทนา จนโซ่พันเข้ากับต้นไม้ต่างๆจนสั้นเข้าๆและถูกคนร้ายเหล่านั้นเข้าประชิดตัวเพื่อตัดงาในที่สุด



    Thursday, May 14, 2009

    นานาสาระเกี่ยวกับช้าง About Elephants



    นานาสาระเกี่ยวกับช้าง
    ช้างเอเชีย กับช้างอาฟริกา


    ช้างเอเชีย(ประกอบด้วยสายพันธุ์สุมาตรา ศรีลังกาและอินเดีย ซึ่งช้างไทยจัดอยู่ในกลุ่มสุดท้ายนี้) และช้างอาฟริกามีความแตกต่างกันหลายอย่างเช่น


    1. ขนาด –ช้างอาฟริกาตัวผู้ที่โตเต็มที่อาจหนักถึง 6000 กิโลกรัม ส่วนสูง(วัดถึงส่วนบนสุดของกระดูกหัวไหล่)ประมาณ 4 เมตร ตัวเมียหนักประมาณ3000 กก. และสูงประมาณ 2.6 เมตร ขณะที่ช้างเอเชียตัวผู้หนักประมาณ 5400 กก. สูงประมาณ3.2 ม. ตัวเมียหนักประมาณ4000 กก. และสูงประมาณ 2.5 ม. (ที่มา: Ian Redmond, Eye Witness Guides “Elephant” (Dorling Kindersley,1993)

    2. ศีรษะ -ช้างอาฟริกามีส่วนบนของศีรษะเมื่อมองจากด้านหน้าค่อนข้างแบนราบป็นเส้นตรง ส่วนช้างเอเชียมีส่วนบนของศีรษะเป็นโหนกนูนสองโหนก

    3. ใบหู –ช้างอาฟริกามีใบหูใหญ่กว่าช้างเอเชียมากอย่างเห็นได้ชัด คือใบหัวมีขนาดเกือบเท่าศีรษะทีเดียว ช้างเอเชียมีใบหูขนาดเล็กกว่าศีรษะมาก

    4. งา –ช้างอาฟริกาทั้งสองเพศมีงา ส่วนช้างเอเชียเฉพาะตัวผู้เท่านั้นที่มีงา ช้างเอเชียตัวเมียไม่มีงา มีเพียง “ขนาย” คือส่วนที่ลักษณะคล้ายงาอันเล็กๆยื่นออกมาจากบริเวณด้านข้างทั้งสองข้างของโคนงวง

    5. หลัง – หลังของช้างอาฟริกาจะแบนราบจนดูเหมือนแอ่นบริเวณที่ต่อจากศีรษะและช่วงไหล่และไปโหนกนูนบริเวณท้ายส่วนสะโพก ส่วนช้างเอเชียจะมีหลังที่โค้งนูนตั้งแต่บริเวณต่อจากช่วงไหล่ไป


    • ช้างแต่ละตัวมีรูปร่างหน้าตาและอุปนิสัยไม่เหมือนกัน
      นอกจากจะมีบุคลิกภาพและนิสัยต่างกัน เช่นเดียวกับคนแล้ว ช้างแต่ละตัวยังมีรูปร่างหน้าตาต่างกัน เราสามารถบอกลักษณะที่แตกต่างเพื่อจดจำว่าตัวไหนเป็นตัวไหนได้ไม่ยากด้วยการสังเกตความแตกต่างเช่น ใบหู ติ่งหู (ใบหูตั้งหรือพับไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ติ่งหูแหลม หรือมน) รูปหน้า กว้างหรือแคบ โหนกหน้าผาก (นูนหรือแบน) งวง (โคนงวงกว้างหรือแคบ มีสีหรือจุดด่างหรือไม่) ดวงตา เบ้าตา (ตานูน ตาเรียบ มีรอยย่นรอบตามากน้อย ลักษณะอย่างไร) หาง (ขนหาง เต็มหรือแหว่งอย่างไร สีและลักษณะขนหาง) โครงสร้างร่างกาย (ความสูง รอบอก รอบพุง เท้า เล็บ) งา (ชี้เข้า ชี้ออก โค้งมากหรือน้อย ความยาวของงา สีและรอยแตก รอยบิ่นต่างๆ) หรือแม้แต่ท่าทางต่างๆและลักษณะการเดิน ฯลฯ อุปนิสัยก็ต่างกันเหมือนคน เช่นบางตัวขี้ตื่น ตกใจง่าย บางตัวจิตใจนิ่งมั่นคง บางตัวชอบเล่นแรงๆหรือรังแกตัวอื่น บางตัวอ่อนโยน บางตัวชอบส่งเสียงสื่อสารพูดคุยกับตัวอื่น ช้างตัวเมียจะส่งเสียงคุยกันมากกว่าช้างตัวผู้ด้วย


    • เมื่อพบเห็นช้างตกมันท่านสามารถขอความช่วยเหลือจากสถาบันคชบาลแห่งชาติ โทร. 054-228208, 054-228108 หรือ 081-8845834, 0898553700 หรือที่มูลนิธิช้าง โทร.02-6537431, 081-8302535 ซึ่งจะประสานงานและจัดทีมเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญออกจัดการอย่างถูกวิธีกับช้างที่ตกมันและอาละวาด (รวมทั้งช้างบาดเจ็บหรือปัญหารุนแรงอื่นๆเกี่ยวกับช้าง

    • ครอบครัวจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการอยู่รอดของช้าง
      ช้างสามารถสื่อสารกันเองได้แม้จะอยู่ห่างกันถึง 8กิโลเมตร ด้วยเสียงคลื่นความถี่ต่ำซึ่งหูของมนุษย์ไม่สามารถได้ยิน ช้างเป็นสัตว์ที่มีความผูกพันธ์และรักครอบครัว (สมาชิกที่อยู่ในโขลงเดียวกัน) มีการช่วยเหลือกันและกันตั้งแต่การคลอดลูก การดูแลลูกที่เพิ่งเกิดเพื่อให้แม่ช้างที่เพิ่งคลอดได้พักผ่อน ปกป้องคุ้มครองกันและกันโดยเฉพาะลูกช้างเล็กๆในโขลงจากอันตรายไม่ว่าสิ่งใดๆ เมื่อช้างไม่พอใจ ต้องการขู่ผู้รุกราน หรือแสดงการปกป้องลูกน้อยหรือฝูงของมัน มันจะส่งเสียงแปร๋นแหลมดังหรือพร้อมกับใช้งวงฟาดกับพื้นจนเกิดเสียงดังน่ากลัวเพื่อเตือนหรือขู่ให้ศัตรูถอยไป ความผูกพันธ์ระหว่างกันนี้มีความจำเป็นในการดำรงเผ่าพันธุ์ของช้างอย่างยิ่ง

    • เมตตาช้าง ช่วยช้างด้วย
      ช่วยกันเป็นหูเป็นตาและ ไม่สนับสนุนธุรกิจหรือการกระทำที่ขาดความเมตตาต่อช้าง เช่นกระบวนการนำช้างไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมเช่น การส่งออกไปขายยังต่างประเทศซึ่งขาดควาญหรือคนเลี้ยงที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ การใช้ช้างเพื่อธุรกิจการแสดงหรือการท่องเที่ยวซึ่งไม่จัดหาสถานที่อาศัยและแหล่งน้ำที่เหมาะสมต่อช้าง เช่นเมื่อว่างจากการแสดงก็ให้ช้างอยู่ในโรงพื้นคอนกรีตนานๆ โรงเรือนที่สกปรกคับแคบ ขาดร่มเงา ร้อนอบอ้าว บังคับให้ช้างเดินลงในแหล่งน้ำสกปรก หรือกักขังในที่คับแคบเป็นเวลานานๆเพื่อดึงดูดผู้ชมและหารายได้ ให้อาหารซ้ำๆหนึ่งหรือสองชนิด ให้น้ำดื่มที่ไม่สะอาดพอ การแสดงที่ช้างต้องเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ใช้ขอแหลมจิกหรือตีแรงๆเพื่อให้ช้างทำตามที่คนต้องการให้รวดเร็วทันใจคนเช่นวิ่งกลับตัวไปมาอย่างรวดเร็วเพื่อแข่งฟุตบอลซึ่งขัดกับสรีระของช้างอย่างมาก หรือการนำช้างไปเร่ร่อนขายกล้วย อ้อยตามถนนในเมือง และพักอาศัยตามพื้นที่รกร้างที่อาจเกิดอันตรายจากสายไฟฟ้า ฯลฯ


    • กล้วยและอ้อยไม่ใช่อาหารหลักสำหรับช้าง
      อาหารตามธรรมชาติของช้างคือหญ้าต่างๆ เปลือกไม้ กิ่งและใบไม้ต่างๆ เช่นกิ่งและใบไผ่ หน่อไม้ ลูกไม้ต่างๆฯลฯโดยช้างจะเลือกกินตามฤดูกาลและถิ่นที่อยู่ อาหารที่ให้ช้างที่เลี้ยงดูควรมีความหลากหลาย การให้อาหารชนิดซ้ำๆ หรือผิดๆมีผลต่อฟันและสุขภาพของช้างโดยตรง และช้างยังต้องการแร่ธาตุต่างๆอีกหลายชนิดที่หาได้จากโป่งดินในธรรมชาติ


    • ช้างกินจุและกินแทบตลอดทั้งวัน (นอกจากเวลาล้มตัวลงนอนวันละประมาณสามชั่วโมง)
      ช้างที่โตเต็มที่แล้วต้องการอาหารวันละ 200-250 กิโลกรัม และต้องการอาหารหลากหลายไม่ใช่หนึ่งหรือสองชนิด ช้างที่ถูกนำมาเลี้ยงมักไม่ค่อยได้รับอาหารที่หลากหลาย และสารอาหารที่ครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย หลายๆแห่งพบว่า เจ้าของที่มีความเข้าใจเรื่องนี้พยายามที่จะเสริมด้วยอาหารที่จะชดเชยสารอาหารที่ขาดไปเพราะขาดความหลากหลายเช่น ผลิตอาหารเม็ด ที่มีสารอาหารและแร่ธาตุที่ช้างต้องการ ให้รำข้าวผสมเพื่อเพิ่มแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ให้มะขามเปียกกับเกลือเม็ดฯลฯ แม้บางกรณีอาหารเหล่านั้นอาจขาดความอร่อยไปบ้างเมื่อเทียบกับพืชผักและผลไม้สดนานาชนิดตามธรรมชาติก็ยังนับว่าเป็นความพยายามที่น่ายกย่อง บางแห่งพยายามหาซื้อผลไม้หลายชนิดที่เป็นอาหารที่ช้างชอบเช่นกล้วย อ้อย มะละกอ หรือผลไม้อื่นๆ แต่จะทำได้ก็เพียงครั้งคราวเพราะวิธินี้ค่าใช้จ่ายจะสูงมากเนื่องจากช้างกินอาหารปริมาณมหาศาลทุกวัน และยังเสี่ยงต่อการได้รับสารฆ่าแมลงที่ตกค้างบนผลไม้บางชนิดถ้าให้กินจำนวนมาก ส่วนช้างที่คนนำมาเดินเร่ร่อนในเมืองนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้อาหารพอเพียงต่อความต้องการตามธรรมชาติของช้างในแต่ละวัน ดังนั้นยิ่งนำช้างมาเดินเร่ร่อนในเมืองนานเท่าใด ช้างนั้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่ออันตรายและปัญหาสุขภาพมากขึ้นเท่านั้น เคยมีกรณีที่ช้างเร่ร่อนในกรุงเทพฯกินแตงโมและตายอย่างทรมานเพราะสารพิษที่ตกค้าง หรือถูกไฟฟ้าดูด หรือรถชนบาดเจ็บและตายในที่สุด [เช่นกรณีพลายบุญมีช้างเร่ร่อนกินแตงโมเป็นพิษเสียชีวิต, พังแสงเดือนเดินตกท่อแถวเดอะมอลล์ท่าพระ เมื่อ 21มกราคม2547, พลายโตโต้ช้างเร่ร่อนดึงเถาวัลย์กินถูกไฟดูดตายแถวบางขุนเทียน เมื่อกรกฎาคม 2547 อายุเพียง4 ปี, (ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)]


    • เมตตาช้าง เลี้ยงด้วยความเข้าใจ
      เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่โต มีพละกำลังมาก การเลี้ยงดูช้างอย่างเหมาะสมจะทำให้ทั้งช้างและคนอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนต้องหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของช้าง ที่อยู่อาศัย อุปนิสัย อาหารการกินของเขา และเข้าใจการสื่อความหมายต่างๆจากพฤติกรรมของเขา การสอนช้างให้เข้าใจคำสั่ง การควบคุมให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ตลอดจนสอนให้ช้างเข้าใจและให้ความร่วมมือกับคนในทุกๆเรื่องสำคัญมากสำหรับช้างทุกๆตัว เช่นบางครั้งเราอาจจำเป็นต้องตรวจดูใต้เท้าของช้างเมื่อ สงสัยว่าอาจถูกอะไรตำเท้าอยู่ หากช้างไม่เคยได้รับการฝึกให้ยกเท้าให้ตรวจ ให้ความไว้วางใจคนว่าจะไม่ทำอันตรายเขา เราก็จะไม่สามารถช่วยเหลือเขาได้ หรือช้างอยากเล่นหยอกล้อกับคนแต่ไม่รู้ประมาณพละกำลังของตัวเองก็อาจทำให้คนบาดเจ็บ หรือช้างไม่เชื่อฟังไม่รู้จักคำสั่งเมื่อถูกขัดใจก็อาจทำร้ายคนได้ เป็นต้น


    • เลี้ยงอย่างเหมาะสมมีความสุขทั้งคนและช้าง ความเข้าใจธรรมชาติของช้างและรู้จักฝึกหัดช้างตั้งแต่ลูกช้างยังเยาว์วัยจะช่วยให้เราสามารถค่อยๆปรับพฤติกรรมของช้างให้เขาเป็นมิตรกับคน มีนิสัยดี ไม่ทำลายข้าวของหรือทำร้ายผู้คน หลักการกว้างๆคือพฤติกรรมใดที่เราไม่ต้องการให้ลูกช้างประพฤติเมื่อโตขึ้นก็ต้องไม่สนับสนุนให้เขาทำตั้งแต่วัยเยาว์ เช่นเดียวกับมนุษย์ เช่น โดยธรรมชาติลูกช้างเล่นกันเองจะมีการวิ่งเข้าหาและเอาหัวชน เอาเท้าเตะหรือดันกัน ซึ่งเป็นทั้งการเล่นและการเรียนรู้ตามธรรมชาติ หากเราเล่นกับเขาด้วยก็คือเราตอบสนองและยอมรับการเล่นแบบนั้น เขาก็จะทำแบบนั้นไปเรื่อยๆด้วยความสนุก แต่เมื่อโตขึ้นการชน การเตะ ก็รุนแรงขึ้นตามขนาดของร่างกายจนเป็นอันตรายต่อคนได้ เราจะห้ามเขาตอนนั้นก็จะไม่ได้ผลแล้ว กรณีเช่นนี้มีลูกช้างอายุ 3-4 ปีขึ้นไปหลายรายที่ต้องถูกล่ามโซ่กักขังตลอดเวลาเพราะซนและเล่นรุนแรงจนคนไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งก็เป็นผลจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมเพราะขาดความเข้าใจในพฤติกรรมในแต่ละวัยของช้าง [เช่นกรณีของพลายมงคลช้างขวัญของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ในอดีตสมัยรัชกาลที่ห้า ซึ่งถูกเลี้ยงตัวเดียวไม่เคยรู้จักช้างอื่น ใกล้ชิดสนิทสนมกับคนในยามเป็นเด็กหรือลูกช้างเล็กๆ แต่เมื่อตกมันและถูกแหย่ถูกล้อตามปกติก็ทำร้ายคนรวมทั้งคนเลี้ยง ในที่สุดถูกส่งไปอยู่ในชนบทและเสียชีวิตเพราะพลัดตกจากตลิ่งสูงชันเนื่องจากหยั่งน้ำหนักตนเองไม่ถูก เนื่องจากไม่เคยเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากแม่หรือโขลงช้างในวัยเยาว์ “เจ้าพลายถูกจับไปจองจำในซองแคบๆ ที่สุดท่านเจ้าพระยาเทเวศรฯก็จำใจส่งพลายมงคลคืนไปยังพระเจ้าเชียงใหม่....เพราะเห็นว่าไม่สามารถให้ความสุขแก่พลายมงคลได้และการเลี้ยงช้างอย่างเลี้ยงสัตว์เล็กๆหรือ(เลี้ยง)เกือบจะเหมือนมนุษย์นั้นได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นความหลงใหลผิดพลาด”, ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ, เรื่องของช้างพลายมงคลผู้อาภัพ (ศึกษาภัณฑ์พาณิช)
    • แทบไม่มีป่าที่ปลอดภัยในโลกนี้สำหรับช้างอีกแล้ว
      ความจริง ชีวิตที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับช้างก็คือการได้อยู่อาศัย หากินเองและขยายพันธุ์ ตามธรรมชาติในป่าอย่างที่บรรพบุรุษของมันเคยเป็นมา แต่ในปัจจุบันหากเรานำช้างไปปล่อยในป่าก็เท่ากับการส่งพวกเขาไปเสี่ยงต่อความตายจากน้ำมือมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวบางกลุ่มที่จ้องจะฆ่าช้างเอางา ฆ่าแม่ช้างเอาลูกไปขาย และในปัจจุบันการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นการขยายพื้นที่การเกษตร การตัดและขยายถนน หรือ การบุกรุกป่า การตัดไม้ทำลายป่า กลายเป็นปัญหาหลักที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของช้างและสัตว์ป่าอื่นๆอย่างรุนแรงคือทำให้สัตว์ป่าขาดที่อยู่อาศัยและที่หากินจนต้องเข้ามากินพืชผลที่คนปลูกไว้ ในที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่หากินตามปกติของพวกเขา ช้าง(และสัตว์ป่า)ที่ถูกเบียดเบียน กลับกลายเป็นผู้บุกรุกและผู้ทำลาย ก่อความเสียหายและต้องถูกจัดการ (ช้างในประเทศอื่นๆเช่นอินเดีย หรือในอาฟริกาก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้) การนำช้างมาเลี้ยงไว้ในที่ที่เหมาะสมตามแต่โอกาสอันควรจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย และการให้ช้างได้ทำงานหรือกิจกรรมต่างๆบ้างเช่นการแสดงที่เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของช้าง จะเป็นการให้ช้างได้เคลื่อนไหว ได้ออกกำลังกาย ฝึกการเชื่อฟังคำสั่งง่ายๆ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ ความพึ่งพากันระหว่างช้างกับคนเป็นอย่างดี


    • คนเลี้ยงช้างก็ต้องการความช่วยเหลือ
      เนื่องจากการเลี้ยงช้างมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ควาญช้างหรือเจ้าของช้างนั้นยากที่จะรับมือกับค่าใช้จ่ายและภาระต่างๆในการเลี้ยงดูช้างของตนได้ ควาญช้างและเจ้าของทั้งหลายจึงจำเป็นต้องหากิจกรรมให้ช้างและคนได้ทำเพื่อหารายได้มาจุนเจือค่าอาหารช้างและใช้จ่ายเหล่านั้น ตัวอย่างการคำนวนค่าใช้จ่ายในการมีช้างห้าเชือกไว้ในครอบครอง ในระดับคุณภาพที่เหมาะสม

      ค่าอาหารช้าง 5 เชือก (กล้วย หญ้า อ้อย ฟัก มะขามเปียก เกลือเม็ด ฯลฯ) เฉลี่ยกก.ละ 3ถึง5 = 4 บาท
      ปริมาณอาหารต่อตัวต่อวันเฉลี่ย 200 กก. เท่ากับ 200กก. x 5ตัว x 4บาท x 30วัน เท่ากับ 120,000 ต่อเดือน
      ควาญช้าง 5 คน และคนงาน 2 คน เงินเดือน เฉลี่ย/คน/เดือน 5,500 บาท X 7 คนเท่ากับ 38,500 ต่อเดือน
      ค่าใช้จ่ายอื่นๆเช่น ค่าอาหารและที่พักสำหรับคน ค่าไฟฟ้า น้ำมันรถ ซ่อมบำรุงและอุปกรณ์ต่างๆ 30,000 ต่อเดือน
      รวมค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 188,500 บาท

      กรณีช้างป่วยอาจมีค่าใช้จ่ายในการซื้อหายาโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะอาจสูงถึงหลายหมื่นบาทต่อการป่วยหนึ่งครั้ง ซึ่งยาบางอย่างมีราคาแพงและใช้ปริมาณมากทางมูลนิธิที่มีสัตวแพทย์ให้การรักษาก็อาจจะไม่สามารถรับภาระนั้นเพียงฝ่ายเดียวได้ จำเป็นที่เจ้าของช้างจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วยตนเอง