Wednesday, June 3, 2009

ดูช้างให้สนุก Different ways to enjoy the elephants without causing them discomfort


ลองหัดสังเกตุรูปร่างหน้าตาของช้างแต่ละตัว โดยดูลักษณะของอวัยวะต่างๆที่ละส่วนเราจะเห็นว่าช้างแต่ละตัวมีรูปร่างหน้าตาต่างกันเช่นเดียวกับคนแต่ละคน และลองหันมา "ดูช้าง" โดยดูพฤติกรรมต่างๆ และอากัปกริยาที่น่ารักและขำๆตามธรรมชาติของช้างกันบ้าง ท่านจะพบว่า การ"ดูช้าง" แบบนี้สนุกและสบายใจกว่าการดู "การแสดงช้าง"อย่างที่เราเห็นกันทั่วๆไป


เราสามารถบอกลักษณะที่แตกต่างเพื่อจดจำว่าตัวไหนเป็นตัวไหนได้ไม่ยากด้วยการสังเกตความแตกต่างเช่น รูปร่างของใบหู และติ่งหู (ใบหูตั้งหรือพับไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ติ่งหูแหลม หรือมน) รูปหน้า กว้างหรือแคบ โหนกหน้าผาก (นูนหรือแบน) งวง (โคนงวงกว้างหรือแคบ มีสีหรือจุดด่างหรือไม่) ดวงตา เบ้าตา (เปลือกตานูน หรือเปลือกตาเรียบ มีรอยย่นรอบตามากหรือน้อย ลักษณะอย่างไร) หาง (ขนหาง เต็มหรือแหว่งอย่างไร สีและลักษณะขนหาง) คอ(สั้นหรือยาว) โครงสร้างร่างกาย (ความสูง รอบอก รอบพุง เท้า เล็บ) งา (ชี้เข้า ชี้ออก โค้งมากหรือน้อย ความยาวของงา สีและรอยลายงา และรอยบิ่นต่างๆ) หรือแม้แต่ท่าทางต่างๆและลักษณะการเดิน ฯลฯ

แม้อุปนิสัยก็ต่างกันเหมือนคน เช่นบางตัวขี้ตื่น ตกใจง่าย บางตัวจิตใจนิ่งมั่นคง บางตัวชอบเล่นแรงๆหรือรังแกตัวอื่น บางตัวอ่อนโยน บางตัวชอบส่งเสียงสื่อสารพูดคุยกับตัวอื่น การรู้จักและจำได้ว่าช้างตัวไหนคือตัวไหน จะช่วยให้เราดูช้างได้อย่างสนุกสนานขึ้น

ปัจจุบันมีสถานที่ที่เลี้ยงช้างเพื่อการอนุรักษ์ คือไม่มีการฝึกช้าง หรือการแสดงใดๆ มีเพียงให้นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยี่ยมชม ได้ชมช้างเดินเล่น หากิน หยอกล้อกันในโขลง และให้อาหารช้างเท่านั้น เมื่อเราเฝ้าดูช้างนานพอสมควร เราอาจเห็นลูกช้างเล่นอยู่ตัวเดียวโดยฟัดเล่นเหมือนต่อสู้กับต้นไม้ เดี๋ยเตะเดี๋ยวกัด เดี๋ยวล้มตัวลงนอน เดี๋ยวลุกขึ้น เหมือนเด็กๆ ส่วนช้างใหญ่ก็มีท่าทางน่าขำเช่นบางตัวก็หมั่นเอางวงกวาดเอาสิ่งที่เราคิดว่าสกปรก เช่นเศษใบไม้ ใบหญ้ารวมทั้งดินทรายฯลฯ โยนขึ้นไปบนหัวและหลังซ้ำๆซากๆอย่างหน้าตาเฉย มองไปจะเห็นของเหล่านั้นวางอยู่เต็มหัวอย่างน่าตลก แม้การเอางวงหยิบใบหญ้าเป็นกำๆฟาดไปมากับข้อเท้าของตัวเองเพื่อปัดฝุ่นออกก่อนจะเอาเข้าปากก็ยังน่าสนใจคุ้มแก่การมองดู ถ้าโชคดีเราก็อาจเห็นช้างตัวเมียรุ่นๆพยายามทำตัวเป็นแม่ ดูแลช้างน้อยเล็กๆ เอางวงคอยดึงคอยปรามห้ามไม่ให้ซน ราวกับเด็กผู้หญิงเล่นบทแม่ยังไงยังงั้น...

Friday, May 29, 2009

อย่างไรที่เรียกว่า "ช้างตกมัน"? What is a "musth", how does it affect the elephants?



อาการตกมันคืออาการที่ช้างมีของเหลวคล้ายน้ำมันมีกลิ่นค่อนข้างแรงไหลออกมาจากรูเล็กๆที่ขมับทั้งสองข้าง และจากอวัยวะเพศของช้างตัวผู้ ช่วงที่มีอาการตกมันมากของเหลวนี้จะมีปริมาณมากและมีกลิ่นรุนแรง จนแม้แต่คนเราก็ยังสามารถได้กลิ่นเมื่อยืนอยู่ห่างๆ และสามารถมองเห็นได้ชัดเจนทั้งที่ขมับและที่ตั้งแต่บริเวณโคนขาหลังด้านในทั้งสองข้างลงมาจนถึงเท้าทั้งสองข้าง ช้างตัวผู้จะเริ่มตกมันเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ช้างที่ถูกใช้งานหนัก ขาดสารอาหาร ขาดการพักผ่อน หรือเจ็บป่วยจะไม่มีอาการตกมัน ช้างที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงและเป็นปกติจึงจะตกมัน ช้างที่ร่างกายสมบูรณ์อาจตกมันเป็นระยะเวลานานถึงสี่ห้าเดือน ในธรรมชาติช้างตัวเมียที่อยู่ในระยะเป็นสัด มักจะเลือกที่จะผสมพันธุ์กับช้างตัวผู้ที่กำลังตกมัน มากกว่าช้างตัวผู้อื่นๆ

เมื่อช้างตัวผู้อยู่ในระยะเวลาตกมัน ควาญช้างจะงดอาหารที่ให้พลังงานสูง คืออาหารพวกแป้งและน้ำตาลเช่น กล้วย อ้อย แต่จะให้อาหารที่ประกอบด้วยน้ำมากๆและเส้นใยเช่นหญ้าและฟักต่างๆ และมัดช้างไว้ใกล้แหล่งน้ำ แต่ให้ห่างจากผู้คนและช้างอื่น เพราะช้างที่อยู่ในระยะตกมันส่วนมากมักมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางกร้าวร้าวดุร้าย และอาจทำร้ายช้างอื่นหรือคนได้


ช้างตกมันทุกตัวดุร้าย ใช่หรือไม่?

ไม่ใช่ มีช้างที่อยู่ในระยะตกมันบางตัวที่พฤติกรรมไม่เปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงน้อย เช่นยังคงฟังคำสั่งควาญช้าง ยังคงให้ขี่คอไปไหนมาไหนตามปกติ แต่ช้างประเภทนี้มีน้อยกว่าประเภทแรก ช้างของใครเป็นเช่นนี้ถือเป็นโชคดีของควาญอย่างยิ่ง

การแสดงช้างอาบน้ำ - ช้างชอบอาบน้ำจริงหรือไม่? Bathing Show - Do elephants always enjoy bathing?

ตามสถานที่ๆต้องใช้ช้างรับนักท่องเที่ยวให้ขี่ช้าง ควาญหรือคนเลี้ยงช้างต้องทำความสะอาดช้างก่อน โดยให้ช้างอาบน้ำโดยลงไปในน้ำทั้งตัว เพื่อล้างเอาดินโคลนและเศษฝุ่นเศษใบไม้กิ่งไม้ออกจากตัว (ช้างมักใช้งวงจับใบไม้ใบหญ้า หรือกอบเอาดินทราย ดูดเอาโคลนและน้ำพ่นใส่หัวและหลังตนเองเสมอๆ เพื่อเป็นการระบายความร้อน ไล่และป้องกันแมลง เมื่อปล่อยให้ช้างอยู่ตามลำพัง เช่นนำไปล่ามทิ้งไว้ในไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน หากสถานที่นั้นมีสิ่งต่างๆอย่างที่กล่าวมา ช้างทุกตัวจะทำเช่นนี้เป็นธรรมชาติ) ในบางสถานที่ก็ใช้การอาบน้ำของช้างเป็นการแสดงชนิดหนึ่งเพื่อให้นักท่องเที่ยวชม เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำ และดำผุดดำว่าย เอางวงพ่นน้ำฯลฯ ซึ่งปกติก็เป็นสิ่งที่น่าดูอย่างยิ่ง แต่ในฤดูหนาว ตามธรรมชาติ ช้างเองก็ต้องสงวนพลังงานคือความร้อนไว้ในร่างกาย เมื่อถูกบังคับให้ลงน้ำในเวลาเช้าก็เป็นความทรมานอย่างหนึ่ง ถ้าสังเกตให้ดี เราอาจเห็นว่าช้างเหล่านั้นมักอิดออดไม่ยอมลงน้ำง่ายๆ แต่ในที่สุดก็ต้องทำตามทุกครั้งเพราะมิฉะนั้นควาญจะลงโทษ น้ำเย็นในเช้าตรู่ในฤดูหนาวอาจทำให้ช้างเจ็บป่วยได้เช่นเดียวกับคนหากต้องลงแช่น้ำเย็นทั้งตัวเช่นนี้บ่อยๆ หากในสถานที่ใดสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำความสะอาด เฉพาะในฤดูหนาว เช่นเปลี่ยนเป็นเอากิ่งไม้ใบไม้เป็นกำๆฟาดบนหัวและหลังช้างเพื่อปัดฝุ่นออกและฉีดน้ำล้างพร้อมเอาแปรงขัดฝุ่นโคลนออก หรือเลื่อนเวลาแสดงช้างอาบน้ำให้สายขึ้นถ้าทำได้ ก็จะเป็นความกรุณาเล็กๆน้อยๆที่คนสามารถมอบให้แก่ช้างเหล่านั้นซึ่งช้างเองก็ทำประโยชน์คือทำรายได้ตอบแทนให้และให้ความสนุกสนานแก่คนเช่นกัน

นอกจากเรื่องอาบน้ำนี้ หลายคนก็ยังคิดแทนช้างว่า ช้างตากฝนนานๆได้ ช้างไม่หนาว เพราะช้างนั้นหนังหนา ช้างแข็งแรงฯลฯ แต่ในความเป็นจริง ลองเดินเข้าป่าพร้อมกับช้างโดยปล่อยให้ช้างเลือกที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งต่างๆเองตามความต้องการของเขา เราจะพบว่า ช้างอาจจะยินดียืนหยิบเปลือกไม้ใบไม้กินกลางฝนในระดับหนึ่ง แต่เมื่อตกค่ำหรืออากาศหนาวเย็น และมีฝนตก ช้างก็จะหาที่หลบฝน หาที่อยู่ที่อุ่นสบายเช่นกัน เคยเห็นช้างพลายรุ่นๆตัวหนึ่ง เอางาแทงจอมปลวก เอางวงและเท้าตะกุยให้ดินร่วนซุยและล้มลงนอนเกลือกกลิ้งบริเวณนั้น ราวกับว่าได้ที่นอนแสนสุขสบายแล้ว ผมเลือกตรงนี้แหละใครจะไปไหนก็ไปเถอะ ความเชื่อผิดๆเรื่องความอดทนและความไม่รู้สึกสะทกสะท้านต่อความร้อนเย็น ความเจ็บปวดของช้างที่ถูกบอกเล่าต่อๆกันมานั้นมักออกไปในแนวราวกับว่าช้างเป็นเครื่องจักรชนิดหนึ่งที่แทบจะไม่มีความรู้สึกอะไรต่อสภาพแวดล้อมเลย

ช้างมีผิวหนังย่นไปทั้งตัว หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าผิวหนังและรอยย่นขนตัวช้างนั้นตามจุดต่างๆก็มีลักษณะต่างกัน รอยย่นทำให้เกิดร่องระหว่างผิวหนังจำนวนมากซึ่งช่วยระบายความร้อนให้ช้างได้เปนอย่างดี คือเมื่อช้างขึ้นจากการแช่น้ำ น้ำจะยังคงค้างอยู่ตามซอกหรือตามรอยย่นระหว่างผิวหนัง และจะค่อยๆระเหยไปช้าๆ ช่วยลดอุณหภูมิร่างกายของช้างในวันอากาศร้อนได้เป็นอย่างดี แต่ในฤดูหนาว การบังคับให้ช้างต้องอาบน้ำในยามเช้าโดยการลงไปแช่น้ำทั้งตัว ย่อมเป็นสิ่งที่ช้างไม่อยากทำ เพราะขัดกับธรรมชาติในการดูแลตนเองของช้าง หากนักท่องเที่ยวหรือผู้ชมช่วยกันปฏิเสธไม่อยากชมช้างอาบน้ำยามเช้าในวันที่อากาศหนาวเย็นก็จะเป็นความกรุณาต่อช้างอย่างยิ่ง

ทุกๆเช้าควาญช้างแต่ละคนจำเป็นต้องล้างดินโคลนที่ช้างโดยหรือพ่นใส่ตามตัวและหัวมาตลอดทั้งคืน ก่อนที่จะนำช้างไปแสดงหรือใส่แหย่งให้นักท่องเที่ยวนั่ง แต่ในฤดูหนาวก็สามารถใช้วิธีการเอาไม้กวาด หรืออุปกรณือื่นๆปัดฝุ่นออกและใช้สายยางฉีดน้ำล้างอีกครั้ง โดยเน้นล้างบนกัวและหลังบริเวณที่ต้องวางแหย่งก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีเศษกรวดทรายชิ้นโตๆเสียดสีกับผิวหนังช้างอยู่ใต้แหย่ง

การแสดงของช้างแสนรู้ - ช่วยกันเฝ้าดูอย่าให้เบื้องหลังเป็นเรื่องเศร้า Elephant Show - Let's make sure they are not being tortured for our fun.




ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่นเดียวกับสุนัข โลมาและ วาฬ ซึ่งล้วนแต่เป็นสัตว์สังคม และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาก อีกทั้งเป็นสัตว์ที่ขี้เล่น โดยเฉพาะตัวที่อายุยังน้อย สัตว์เหล่านี้จึงชอบที่จะอยู่กับคนและเรียนรู้ที่จะทำอะไรๆร่วมกับคน หากคนนั้นมีความเมตตา สั่งสอนและใช้งานพวกเขาอย่างเหมาะสม ช้างก็จะรู้สึกว่าการทำงาน การแสดงต่างๆก็คือการเล่นสนุกสนานและมีความสุขได้เช่นกัน




...คนฝึกช้างสองสามคนมะรุมมะตุ้มฝึกลูกช้างอายุสามปีตัวหนึ่งให้เชื่อฟังคำสั่ง นั่ง นอน ลุกฯลฯ ลูกช้างนั้นมองดูไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร ตามเนื้อตัวก็มีแผลเล็กๆตื้นๆมีรอยยาฆ่าเชื้อโรคสีม่วงๆพ่นไว้เต็มไปหมด ช้างน้อยคงโดนขอและมีดสะกิดอยู่บ่อยๆระหว่างฝึกเชื่อฟังคำสั่งนี้ ควาญสั่ง“นั่งลง”พร้อมกับเอาขอกดที่กลางหลังของช้างน้อย ช้างย่อขาลงและลดตัวลงนั่ง ก้นยังไม่ทันสัมผัสพื้นดี ควาญคนเดิมก็เอาขอกดที่ข้างขาหน้าพร้อมกับพูดว่า “ลุกๆ” ช้างน้อยก็รีบลุก ควาญก็สั่งให้นั่งอีก ทำอย่างนี้อยู่สองสามครั้ง ลูกช้างนั้นส่งเสียงร้องเหมือนเด็กร้องไห้ตัดพ้อ ถ้ามันพูดได้คงจะพูดว่า “จะเอายังไงกันนี่?” ลูกช้างที่น่าสงสารคงทั้งเจ็บทั้งกลัวและต้องการทำตามคำสั่งแต่ก็ไม่เข้าใจว่าคนต้องการสั่งอะไรแน่ การสั่งและเปลี่ยนคำสั่งอย่างรวดเร็วน่าจะทำให้ช้างน้อยสับสนและคิดว่าตนทำไม่ถูกต้องจึงโดนทำโทษ การฝึกสัตว์ควรจะกระทำด้วยความเมตตา มีการพูดจาให้รางวัลเมื่อเขาทำได้ถูกต้อง เพื่อเขาจะได้ทราบว่าสิ่งใดทำถูกแล้วดีแล้ว วันหน้าจะได้ทำอีก สิ่งใดไม่ถูกไม่ดีก็ไม่ให้รางวัลหรือทำโทษเล็กๆน้อยสมควรแก่การกระทำนั้น สัตว์ก็จะเรียนรู้ได้เร็วและไม่บอบช้ำโดยไม่จำเป็น

ในระหว่างการแสดงต่างๆก็เช่นกัน ควาญหลายคนสั่งช้างโดยใช้วิธีที่ทารุณ เช่นใช้ขอสับหรือจิกแรงๆเพื่อให้ช้างทำตามคำสั่งอย่างรวดเร็ว เช่นให้เต้นส่ายหัวส่ายงวง ให้วิ่งเตะฟุตบอล วิ่งกลับตัวอย่างรวดเร็วเช่นวิ่งแข่ง วิ่งในเกมส์โปโล (ซึ่งขัดกับธรรมชาติที่เชื่องช้าอุ้ยอ้ายของช้างส่วนใหญ่) ควาญบางคนถือตะปูเล็กๆไว้ในมือแทนขอสับเพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยงสังเกตเห็น ในฐานะผู้ชมเราสามารถสังเกตได้ด้วยตนเองว่าช้างที่กำลังแสดงนั้นแสดงอย่างมีความสุขหรือไม่ หรือกำลังถูกทารุณ ผู้ชมสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างนักแสดงทั้งหลายถูกกระทำทารุณ เพราะควาญช้างต้องอาศัยรายได้จากผู้ชม หากผู้ชมไม่ชื่นชอบกับการกระทำของควาญและเรียกร้องให้มีการแก้ไข ควาญช้างหรือผู้ประกอบการก็ย่อมต้องตอบสนอง

ช้างหนังหนามาก โดนแค่นี้ไม่เจ็บหรอก - จริงหรือ? "Elephants have very thick skin, they don't feel pain easily" Really?

เรามักได้ยินคนพูดกันว่า “ช้างนั้นหนังหนามาก มันไม่เจ็บหรอก..” ช้างมีผิวหนังหนามากเมื่อเทียบกับหนังของมนุษย์ แต่การมีผิวหนังที่หนาของช้างไม่ได้ลดความ “ไวต่อความรู้สึก” บนผิวหนังของช้างเลย! ช้างรู้สึกได้ทันทีเมื่อแมลงเล็กๆมาเกาะ กัดหรือต่อยที่ผิวหนังส่วนใดก็ตาม ความเป็นสัตว์ที่มีร่างกายใหญ่โตอาจทำให้ช้างอดทนต่อความเจ็บปวดได้มาก ช้างรู้สึกได้ชัดเจนเมื่อโดนกิ่งไม้ หนามแหลมคมที่ครูดไปตามผิว แต่ความเจ็บระดับนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อการหากินตามธรรมชาติของช้างแต่อย่างใด (เช่นเดียวกับชาวนาชาวไร่ที่โดนกิ่งไม้ใบหญ้าบาดในยามทำงานนั่นเอง) แต่การตี การฟัน หรือกดจิกตามผิวหนังด้วยของมีคมหรือปลายแหลม ทำให้ช้างเจ็บแน่นอน การคิดว่าช้างไม่รู้สึกเจ็บเพราะหนังหนาเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง

การใช้มีด และขอสับของคนเลี้ยงช้าง - ควาญช้าง เป็นเรื่องปกติหรือไม่? Is it necessary to use knifes and hooks on elephants?

บางคนไม่ได้ตั้งใจที่จะทำร้ายช้าง แต่เพราะขาดความรอบคอบก็ทำร้ายเขาไปโดยไม่เจตนา เช่นมีควาญคนหนึ่ง แทบทุกครั้งต้องการจะสั่งให้ช้างทำอะไรก็มักเอาสันมีดฟันหรือเคาะแรงๆที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของช้างเช่นต้นขา งวง หรือเท้าตามแต่จะเหมาะหรือสะดวก (ปกติควาญช้างทุกคนจะพกมีดและขอสับเป็นเครื่องใช้ประจำตัว) วันนั้นแกนั่งอยู่กับพื้น แกต้องการสั่งให้ช้างถอยหลัง ก็คว้าเอามีดไปเคาะฉับๆเข้าให้ที่เท้าหลังเหนือเล็บของช้างโดยเข้าใจว่ากำลังใช้สันมีดพร้อมกับบอก “ถอยๆ” แต่โชคร้ายของช้างและความสับเพร่าของควาญ แกใช้ด้านคมซึ่งคมมากแทนด้านสันของมีด ปรากฎว่าเท้าช้างเป็นแผลลึกลงไปประมาณสองนิ้วเห็นจะได้ และกว้างเกือบเท่าความยาวใบมีด เลือดทะลักพรั่งพรูออกมา เท้าเป็นส่วนที่สัมผัสกับพื้นตลอดเวลา โดนฝุ่นดิน น้ำ โคลนฯลฯ แผลเกิดอักเสบ มีหนอนแมลงวันเข้าไปไข่ ช้างตัวนั้นได้รับความเจ็บปวดทรมานตามมาอีกหลายเดือน ช้างก็ไม่ได้มีอาการโกรธแค้น หรือทำร้ายตอบควาญแต่อย่างไร คงก้มหน้ารับความเจ็บปวดไปอย่างน่าสงสาร...

มีดเป็นอุปกรณ์คู่กายของชาวบ้าน มีประโยชน์มากและใช้งานได้หลายอย่างในชีวิตประจำวันและใช้ป้องกันตัว เวลาช้างเกิดดุร้ายผิดปกติและจะทำร้ายควาญ ส่วนขอสับเป็นของคู่กายควาญช้าง ควาญใช้ขอสำหรับกดเบาๆตามส่วนต่างๆของช้าง คล้ายๆกับคาวบอยตะวันตกใช้ส้นรองเท้าที่มีโลหะแหลมๆติดอยู่เพื่อสะกิดบอกให้สัตว์รู้ว่าเราต้องการให้เขาหันซ้ายหันขวา เดินหน้าถอยหลัง หรือหยุด ควบคู่ไปกับภาษากายเช่นการขย่มตัวไปข้างหน้าขณะที่อยู่บนคอช้าง บอกให้ช้างรู้ว่าให้ออกเดินไปข้างหน้า การใช้ปลายเท้าเตะเบาๆที่ด้านหลังใบหู สะกิดเตะที่หลังหูซ้ายพร้อมเอี้ยวตัวไปทางขวาหมายถึงให้ช้างเลี้ยวไปทางขวา เป็นต้น
ควาญช้างใช้ขอสำหรับควบคุมช้างและบางครั้งการสับหรือกดลงแรงกว่าปกติก็เป็นการย้ำคำสั่งหรือลงโทษที่ช้างไม่ทำตามคำสั่งในทันที แต่ขอสับนี้ไม่ควรถูกใช้พร่ำเพรื่อ เช่นเดียวกับการลงโทษช้างก็ไม่ควรพร่ำเพรื่อ ควาญที่มีความเมตตาและรักช้างที่ตนเลี้ยงจะสั่งสอนช้างอย่างมีเมตตาและผลที่ได้คือช้างที่เชื่อฟัง นิสัยดี ไม่ก้าวร้าวและควาญประเภทนี้จะลงโทษช้างน้อยมาก ขณะที่ควาญช้างบางคนไม่มีความเมตตาต่อช้าง ห่วงแต่ประโยชน์ของตน ใช้ช้างทำทุกอย่างที่จะให้ตนได้ประโยชน์โดยไม่คำนึงว่าช้างจะเหนื่อย จะหิวกระหาย จะเจ็บตรงไหน อย่างไร ควาญประเภทนี้มักเอาแต่ใจ ดุและทำร้ายช้างของตนอน่างรุนแรงและบ่อยๆ ช้างเหล่านี้ก็มักจะเป็นช้างที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมเช่นก้าวร้าว ดุร้าย ทำร้ายคนหรือช้างอื่น ตามเนื้อตัวก็มักจะมีบาดแผลเก่าและใหม่อยู่มากมาย

เคยพบควาญคนหนึ่ง อายุห้าสิบกว่าปีแล้ว เป็นคนอารมณ์ดี มีเมตตา พูดกับช้างเสียงดังฟังชัดแต่ไม่กระโชกโฮกฮาก แกเรียกช้างของแกว่า “แม่วัน” (ช้างชื่อทานตะวัน) แทบทุกครั้ง ติดตามแกอยู่หลายวัน แทบไม่เคยได้ยินแกขึ้นเสียงด้วยความดุร้ายหยาบคายกับช้างเลย แทบไม่เคยทำโทษช้างสักครั้ง และไม่เห็นแกใช้ขอสับเลยสักครั้งตลอดระยะเวลากว่าสองสามสัปดาห์นั้น แถมบางช่วงไม่มีอะไรทำ แกก็นั่งลงคว้าหีบเพลงขึ้นมาเป่า สลับกับร้องเพลงอยู่ข้างๆช้างของแกนั่นเอง ช้างก็เลยได้อานิสงค์ได้ฟังเพลงไปด้วย “แม่วัน”ตัวนี้ก็ช่างเป็นช้างชนิดที่เรียกได้ว่า “ช้างในอุดมคติ” เลยทีเดียว รูปร่างสูง ส่วนหัวได้รูปสวย ขนาดกำลังดีไม่อ้วนไม่ผอมไป ผิวพรรณก็สวยงาม ไม่มีบาดแผล นอกจากบางครั้ง ขีดข่วนเล็กๆเวลาเดินเข้าป่าไปโดนกิ่งไม้บ้าง เป็นช้างอารมณ์ดีชวนให้เข้าใกล้ คุณลุงควาญของแม่วันก็เป็น “ควาญช้างในอุดมคติ” เช่นกัน
เรามักได้ยินคนพูดกันว่า “ช้างนั้นหนังหนามาก มันไม่เจ็บหรอก..” ช้างมีผิวหนังหนามากเมื่อเทียบกับหนังของมนุษย์ แต่การมีผิวหนังที่หนาของช้างไม่ได้ลดความ “ไวต่อความรู้สึก” บนผิวหนังของช้างเลย! ช้างรู้สึกได้ทันทีเมื่อแมลงเล็กๆกัดหรือต่อยที่ผิวหนังส่วนใดก็ตาม ความเป็นสัตว์ที่มีร่างกายใหญ่โตทำให้ช้างอดทนต่อความเจ็บปวดได้มากกว่าสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่า เช่นกิ่งไม้ หนามแหลมคมที่ครูดไปตามผิวของช้างอาจไม่ทำให้ช้างรู้สึกเจ็บจนเป็นอุปสรรคต่อการหากินตามธรรมชาติ แต่การตี การฟัน หรือกดจิกตามผิวหนังด้วยของมีคมหรือปลายแหลม ทำให้ช้างเจ็บแน่นอน การคิดว่าช้างไม่รู้สึกเจ็บเพราะหนังหนาเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง

Tuesday, May 26, 2009

ชีวิตของช้างอยู่ในมือของเรา Their destinies are in our hands - Show some mercy!





“..... ชีวิตของช้างอยู่ในมือของเรา เราคือผู้บันดาลความสุขหรือทุกข์ เรากำหนดชะตาชีวิตของเขา”
คนจึงควรมีเมตตา และใช้ความคิดและวิจารณญาน และความรอบคอบในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพวกเขาก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะเราคือผู้ที่ตัดสินใจแทนเขา เราสั่ง เขาต้องทำตาม เขาก็มีสมองและอาจคิดได้ดีกว่าเราในหลายกรณีที่เกี่ยวกับตัวเขา แต่กลับแทบไม่มีโอกาสคิดและตัดสินใจเพราะเราเป็นนายและเป็นผู้สั่งตลอด ถ้าเขาไม่ทำตามก็อาจถูกลงโทษ ดังนั้นเราตัดสินใจผิด/สั่งผิดไม่ได้เลย บางครั้งการตัดสินใจที่ผิดพลาดหรือไม่รอบคอบของเรา (ไม่ว่าด้วยความไม่รู้จริง ประมาท หรือมักง่าย) อาจหมายถึงความทุกข์ทรมาน การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของพวกเขา...

Thursday, May 21, 2009

เรื่องของขี้ช้าง หรือมูลช้าง - Elephant Dung - What does it tell?










ขี้ช้างหรือมูลช้างเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งเมื่อไปเราดูช้าง ช้างเป็นมังสวิรัตร้อยเปอร์เซ็นคือกินแต่พืชล้วนๆ มูลช้างจึงมีหน้าตาเหมือนเส้นใยพืชสารพัดชนิดที่ถูกบดย่อยอย่างละเอียดแล้ว เกาะติดกันเป็นก้อนเกือบกลม มูลช้างบอกอะไรๆให้เราได้ทราบหลายอย่างเช่น บอกขนาดและวัยของช้างอย่างกว้างๆ ช้างตัวโตมูลก็ก้อนโต ลูกช้างเล็กๆหรือช้างอายุน้อยมูลก้อนเล็กกว่าและประกอบด้วยเส้นใยที่ละเอียดมากกว่า ขณะที่ช้างอายุมากประสิทธิภาพการย่อยอาหารจะเริ่มลดลงมูลจึงหยาบกว่า ช้างแก่ๆมูลจะหยาบมาก มูลเก่ามูลใหม่มีสีต่างกัน บอกให้รู้ว่าช้างถ่ายผ่านไปนานเท่าใดแล้ว ในมูลยังอาจมีสิ่งแปลกปลอมอื่นๆปะปนมาซึ่งสัตวแพทย์จะตรวจและสามารถตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของช้างได้












ในธรรมชาติมูลช้างยังมีประโยชน์มหาศาลต่อระบบนิเวศน์คือ ช่วยนำเมล็ดพืชนานาชนิดที่กินเข้าไป ไปงอกยังที่ต่างๆเพื่อเติบโตเป็นป่า เป็นอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆในที่สุด มูลช้างยังเป็นอาหารและที่อยู่อาศัยของแมลงนานาชนิดอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งแมลงเหล่านี้ก็กลายเป็นอาหารของสัตว์กินแมลงอีกมากมายหลายประเภท

Tuesday, May 19, 2009

นั่งช้างเดินเล่น ทรมานช้างหรือเปล่านะ? Elephant Ride - How do we know if they're OK? When to do, when not to do?


แหย่งคือที่นั่งสำหรับวางบนหลังช้างกว้างพอสำหรับนั่งได้สองคน เพื่อให้นักท่องเที่ยวนั่งให้ช้างพาเดินเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในอดีตมักทำด้วยไม้และอาจถักเสริมด้านข้างด้วยหวายหรือไม้ไผ่ดัดโค้ง แต่ปัจจุบัน มีการนำช้างมาหากินในเมืองต่างๆเป็นจำนวนมาก จึงมีการใช้เหล็กทำแหย่งกันมากขึ้น เนื่องจากสะดวกและหาง่าย ราคาถูก


ก่อนติดตั้งแหย่งบนหลังช้างนั้น ต้องมีการล้างทำความสะอาดช้าง เอาเศษใบไม้กิ่งไม่ฝุ่นผงต่างๆออกให้เกลี้ยง เพื่อไม่ให้บาดหลังช้างเป็นแผล จากนั้นปูรองด้วยเปลือกไม้ชนิดหนึ่งที่ทุบให้ฟู (ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “หนัง”) มีความยืดหยุ่นสูง ถ่ายเทอากาศได้ดี ซึ่งจะช่วยให้หลังช้างไม่ร้อนเท่ากับใช้วัสดุอื่น ถ้าเป็นในเมืองมักจะใช้กระสอบข้าวเก่าๆ หรือผ้าห่มสักหลาดเก่าๆแทน วัสดุทั้งสองอย่างนี้ ระบายอากาศและความร้อนได้ไม่ดี (แต่เปลือกไม้นั้นหายาก จะพบเห็นใช้กันตามปางช้างที่อยู่ในแหล่งใกล้ป่าธรรมชาติเท่านั้น) จากนั้นจึงนำแหย่งวางบนหลังช้าง และผูกมัดด้วยเชือก ซึ่งเชือกแต่ละชนิดก็มีคุณภาพ คือความคม ความยืดหยุ่นและแข็งแรงแตกต่างกัน เชือกไนล่อนราคาถูกๆ ยิ่งใช้ไปจะยิ่งแข็งกระด้างและคม หากผูกมัดไม่ดีจะยิ่งบาดผิวหนังช้างให้เป็นแผลได้มาก

เราจะสังเกตความเอาใจใส่ของควาญและ/หรือผู้ประกอบการนั้นๆได้ โดยการดูรูปร่างของแหย่งว่าพอดีกับสรีระ ความโค้งบนหลังช้างมากน้อยเพียงใด (แหย่งที่ทำมาไม่ดีเช่นมีส่วนปลายเป็นมุมแหลมกดลงแนวตรง หรือมีความโค้งไม่พอดีกับความโค้งของหลังช้างอาจทิ่มแทงผิวหรือกดน้ำหนักบนกระดูกสันหลังของช้างจนเป็นอันตรายหรือทำให้ช้างบาดเจ็บเรื้อรังได้) วัสดุต่างๆที่ใช้ การผูกมัด กระทำด้วยความละเอียดใส่ใจเพียงใด อีกทั้งสังเกตว่าช้างแต่ตัวไม่ควรถูกให้บรรทุกแหย่งนานเกินไป ควรได้มีโอกาสพักหลังบ้าง


นอกจากนี้ ควาญหรือผู้ประกอบการที่ดีไม่ควรเอาอกเอาใจนักท่องเที่ยวจนละเลยสวัสดิภาพของช้าง เช่นบรรทุกของหรือคนจนน้ำหนักมากเกินกำลังหรือขนาดของช้าง หลังของช้างเป็นจุดที่ละเอียดอ่อน ช้างสามารถลากของน้ำหนักนับพันกิโลกรัมได้โดยผูกมัดสิ่งของนั้นให้เหมาะสม แต่ช้างไม่สามารถบรรทุกน้ำหนักบนหลังได้มากกว่าร้อยถึงสองร้อยกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดของช้าง ผู้ดูแลช้างต้องปฏิเสธที่จะบรรทุกนักท่องเที่ยวหรือของที่น้ำหนักมากเกินไป นักท่องเที่ยวก็ไม่ควรเรียกร้องต้องการขึ้นนั่งหลายๆคนบนช้างตัวเดียว


ครั้งต่อไปที่เราคิดจะนั่งช้างเที่ยว ช่วยกันสังเกตสักนิดว่า ช้างที่เราจะนั่งนั้น ใส่แหย่ง สภาพไหน หลังเป็นแผลหรือไม่ ตัวเล็กเกินไป แบกแหย่งและบรรทุกคนนานเกินไปแล้วหรือไม่ ต้องเดินนานๆในสภาพอากาศร้อนจัดหรือไม่ ช่วยกันสักนิด ปฏิเสธผู้ให้บริการที่ปฏิบัติต่อช้างอย่างปราศจาคความเมตตา

Friday, May 15, 2009

กล้วยและอ้อยไม่ใช่อาหารหลักของช้าง - Banana and sugarcane are not elephants' natural main diet.

กล้วยและอ้อยไม่ใช่อาหารหลักตามธรรมชาติสำหรับช้าง
อาหารหลักหมายถึงอาหารที่ช้างกินในปริมาณมากที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารชนิดอื่นในธรรมชาติ สำหรับช้างคือหญ้า ใบไม้ กิ่งไม้และเปลือกไม้ต่างๆ ผลไม้อื่นๆเป็นส่วนประกอบที่ช้างหากินได้เป็นครั้งคราวตามพื้นที่ในป่าที่โขลงช้างเดินท่องไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ช้างยังต้องการแร่ธาตุต่างๆซึ่งจะได้จากการกินดินโป่งเช่นเดียวกับสัตว์ป่าอื่นๆ (กล้วยและอ้อยมีน้ำตาลสูง จึงควรให้เป็นครั้งเป็นคราวเหมือนให้ขนมแก่เด็กๆ แต่ช้างเร่ร่อนได้รับอาหารไม่พออยู่แล้ว จึงควรคำนึงถึงปริมาณให้เพียงพอก่อนเรื่องปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับ)

ช้างกินจุและกินแทบตลอดทั้งวัน
(นอกจากเวลาล้มตัวลงนอนวันละประมาณสามชั่วโมง)
ในด้านปริมาณ ช้างที่โตเต็มที่กินอาหารประมาณ๒๐๐-๓๐๐ กิโลกรัมต่อวัน เมื่อคนนำช้างมาเลี้ยง ช้างไม่มีโอกาสหาอาหารตามธรรมชาติ จึงเป็นหน้าที่ของคนที่จะต้องดูแลให้ช้างได้รับอาหารที่เหมาะสมทั้งในด้านความหลากหลาย(สารอาหาร)และปริมาณ ส่วนลูกช้างเล็กๆ ในธรรมชาตินั้นจะกินนมแม่ไปจนอายุถึงสามขวบทีเดียว โดยหลังจากอายุสามสี่เดือนลูกช้างจะเริ่มทดลองกินอาหารอื่นๆตามที่แม่ของมันกิน แต่ยังคงกินนมเป็นหลัก และปริมาณสัดส่วนนมต่ออาหารอื่นๆจะค่อยๆลงเนื่องจากลูกช้างมีขนาดใหญ่ขึ้น นมอย่างเดียวจะไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต การให้อาหารไม่เหมาะสมมีผลต่อสุขภาพร่างกายและฟันของช้างด้วย
พลายบุญมีช้างเร่ร่อนกินแตงโมเป็นพิษเสียชีวิต,
  • พังแสงเดือนเดินตกท่อแถวเดอะมอลล์ท่าพระ เมื่อ 21มกราคม2547,
  • พลายโตโต้ช้างเร่ร่อนดึงเถาวัลย์กินถูกไฟดูดตายแถวบางขุนเทียน เมื่อกรกฎาคม 2547 อายุเพียง4 ปี, (ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)